การลดกําลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีฯ ลงเหลือ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม 2562 มีภูมิหลังและพัฒนาการล่าสุดว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 นาย Khalid Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานบริษัท Saudi Aramco ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Financial Times ว่า ซาอุดีฯ จะลดกําลังการผลิตน้ำมันลงเหลือ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม 2562 โดยจะลดจํานวนการส่งออกน้ำมันลงเหลือ 6.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยส่งออกอยู่ที่ประมาณ 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกกําลังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และกําลังกลับเข้าสู่จุดสมดุล
ทั้งนี้นาย Khalid กล่าวว่า ซาอุดีฯ กําลังวางแผนที่จะเข้าสู่ธุรกิจการสํารวจและการผลิตพลังงานในต่างประเทศ โดยการลงทุนในต่างประเทศจะกลายเป็นเสาหลักของการดําเนินธุรกิจของ Saudi Aramco โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในระยะหลังเริ่มมีอุปสงค์แซงหน้าน้ำมัน ทั้งนี้ภายหลังการประกาศดังกล่าว ราคาน้ำมันดิบ Brent เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่เหนือระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบปี เช่นเดียวกับ US West Texas ปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ไปอยู่ที่ 54.94 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 สํานักข่าว Arab News รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมานของซาอุดีฯ ได้ทรงหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีรัสเซีย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ รายงานข่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดของการหารือ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่า การหารือดังกล่าวน่าจะเกี่ยวกับเรื่องการลดกําลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งซาอุดีฯ ต้องการความร่วมมือจากรัสเซีย
นอกจากนี้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ 7 ธ.ค. 2561 กลุ่ม OPEC (ยกเว้นอิหร่าน เวเนซูเอลา และลิเบีย) และ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันนำโดยรัสเซีย ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะลดกำลังการผลิตให้ได้ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 การประกาศลดการส่งออกน้ำมันของซาอุดีฯ จาก 8.2 เหลือ 6.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จึงเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับข้อตกลงเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ซาอุดีฯ เคยมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือน พ.ย. 2561 โดยการลดการส่งออกในสัดส่วนที่สูงมากดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสมาชิกกลุ่ม OPEC ในปี 2562 น่าจะลดลงมากถึง 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเมื่อพิจารณาประกอบกับความน่าจะเป็นที่อิหร่านและเวเนซูเอลาจะส่งออกน้ำมันได้น้อยลงอันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เพราะแม้ว่ากลุ่ม OPEC และรัสเซีย จะลดกําลังการผลิตน้ำมันลง แต่กำลังการผลิตของสหรัฐในปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลของ U.S. Energy Information Administration ระบุว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันจาก 7 แหล่ง (Shale regions) ทั่วประเทศได้รวมกันมากถึง 8.117 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะผลิตได้เพิ่มขึ้น จากเดิมอีก 62,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. นี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังจะแปรผันตามปัจจัย อื่น ๆ ด้วย อาทิ การที่ลิเบียมีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ในอัตราเดิมอีกครั้งในปีนี้ (ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ ซึ่งจะทําให้อุปสงค์น้ำมันลดลง รวมทั้งการที่จีน (PetroChina) สามารถเริ่มการผลิต shale oil ในเขตซินเจียงตะวันตก ได้ในอัตรา 733 บาร์เรลต่อวัน
แม้ว่าในระยะสั้น การลดกําลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีฯ จะช่วยผยุงราคาน้ำมันให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว การดําเนินการดังกล่าวน่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของซาอุดีฯ เอง เนื่องจากซาอุดีฯ จะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในระยะยาวให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นโดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้การผลิตพลังงานที่มีราคาสูงในปัจจุบัน เช่น fracking และพลังงานทางเลือกอื่นๆ สามารถแข่งขันด้านราคากับน้ำมันดิบแบบเดิมได้ ซึ่งสาเหตุที่ซาอุดีฯ ตัดสินใจลดกําลังการผลิตน้ำมันเกินกว่าจํานวนที่ตกลงไว้อาจเป็นเพราะ ซาอุดีฯ ต้องการแสดงความเป็นผู้นำของกลุ่ม OPEC และเพื่อชดเชยส่วนต่างจากการที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มว่าอิรัคจะไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้ตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้นักวิเคราะห์บางส่วนจึงคาดการณ์ว่า ซาอุดีฯน่าจะต้องกลับมาเพิ่มกําลังการผลิตน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์