ด้วยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 มกุฎราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย หรือ ทีรู้จักกันในพระนามย่อตามสื่อว่า MBS ในฐานะประธาน Royal Commission for AlUta (RCU) ได้เปิดตัวโครงการ Journey Through Time ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเมืองอัลอูลา (ห่างจากเมืองมาดีนะห์ไปทางทิศเหนือประมาณ 400 กม. และห่างจากเมืองเจดดาห์ประมาณ 700 กม.) ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมโบราณในลักษณะเดียวกับ นครเพตราของจอร์แดนให้กลายเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
.
ภูมิหลัง
.
อัลอูลาเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณแนวเทือกเขา Midian/Hijaz ซึ่งทอดยาวเหนือจรดใต้ขนานกับทะเลแดง ทําให้เมืองอัลอูลามีสภาพอากาศที่เย็นกว่าพื้นที่อื่น ๆ และมีฝนตกอยู่สม่ำเสมอ สามารถเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะอินทผลัมและส้มได้โดยอาศัยแหล่งน้ําใต้ดิน ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว ประกอบกับการเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองมักกะห์กับเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือทั้งในซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอน จึงทําให้พื้นที่ดังกล่าว มีความเจริญมาตั้งแต่ในอดีตจากการเป็นเส้นทางการค้าและการแสวงบุญที่สําคัญ
.
อัลอูลาเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมโบราณที่โดดเด่นที่ยังคงทิ้งร่องรอยหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันคือ Hegra หรือในภาษาท้องถิ่นคือ Mada’in Salih (City of Salih) ซึ่งมีสถาปัตยกรรมการแกะสลักภูเขาหินเป็นหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่สร้างสมัยอาณาจักรนาบาตีล (Nabateaen Kingdom) ในช่วงต้นก่อนคริสตกาล (นักประวัตศาสตร์ระบุช่วงเวลา แตกต่างกันระหว่างทศวรรษที่ 6 – 4 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งมีความงดงามคล้ายคลึงกันกับสถาปัตยกรรมของนครเพตราของจอร์แดน ความงดงามดังกล่าวจึงทําให้ Hegra ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO แห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย ในปี 2007 ทั้งนี้ นอกเหนือจากมรดกโลก Hegra แล้ว อัลอูลายังเต็มไปด้วยสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่หนาวเย็นเหมาะแก่การ Camping ในช่วงหน้าหนาว เมืองเก่าซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ยุคหลังของเมืองอัลอูลา และสวนอินทผลัมและสวนผลไม้หลายสิบแห่งซึ่งรายล้อมไปด้วยทิวเขาหินทรายสีชมพูที่มีรูปลักษณ์สวยงามแปลกตา โดยเฉพาะภูเขาหินรูปช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สําคัญด้านการท่องเที่ยวของเมือง
.
ถึงอย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อซาอุดีอาระเบีย เปิดให้มีวีซ่าประเภทท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 แนวทางการปรับใช้บทบัญญัติทางศาสนาในเรื่องดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไป โดยซาอุดีอาระเบีย ถือว่าไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเมืองของชาว Thamud ที่ถูกระบุอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานและในวัจนะของศาสดา (Hadith) ตั้งอยู่ในจุดใดเป็นการเฉพาะ ขณะที่สถาปัตยกรรม Hegra ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็น่าจะอยู่ในช่วง หลังยุคศาสดา Salih ในช่วงต้นคริสตกาลก่อนที่จะถูกอิทธิพลของชาวโรมันเข้ามาปกครองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ดังนั้น การจัดให้มีการท่องเที่ยวในเมืองดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการขัดต่อคําสอนของศาสดาแต่อย่างใด
.
โครงการ Journey Through Time
.
โครงการพัฒนาเมืองอัลอูลาที่เพิ่งจะเปิดตัวใหม่นี้ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่รวมกว่า 2 หมื่นตารางกิโลเมตรภายในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะเป็นการนําศิลปะร่วมสมัยและมรดกโบราณที่มีอยู่มาร่วมพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็น “The world largest living museum” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนต่อปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 38,000 ตําแหน่งภายในปี 2578
.
แผนการพัฒนาเมืองในภาพรวมจะแบ่งออกเป็น 5 เขตหลัก ไล่จากทิศใต้ขึ้นไปทางตอนเหนือ ได้แก่ (1) AL Ula Old Town เขตเมืองเก่าอัลอูลาที่ประกอบไปด้วยบ้านดินเหนียวกว่า 900 หลัง ร้านค้า กว่า 400 ร้าน จัตุรัสกลางเมือง 5 แห่ง ป้อมปราการสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้น (2) Dadan เน้นการจัดแสดงแหล่งอารยธรรมของอาณาจักร Dadan ช่วงปลายศตวรรษที่ 9 และต้นศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล และร่องรอยอารยธรรมของอาณาจักร Libyan ในช่วงศตวรรษที่ 5 จนถึงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล (3) Jaba Ikmah หรือ Ikmah Mountain ซึ่งเป็นเขตภูเขาที่ค้นพบการแกะสลักอักษรโบราณในภาษา Aramaic Dadanitic Thamudic MinaiC และ Nabataean (4) Nabataean Horizon ประกอบด้วยแผนการก่อสร้าง cultural assets ขึ้นใหม่เพื่อเลียนแบบ สถาปัตยกรรมของอาณาจักร Nabataean (5) Hegra Historical city ที่ตั้งของมรดกโลก UNESCO
.
นอกจากการพัฒนาเขตหลักทั้ง 5 แห่งในเมืองแล้วโครงการดังกล่าวยังมีรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่ปลีกย่อยอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การพัฒนาแหล่งวัฒนธรรม (cultural asset) จํานวน 15 แห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และ ศูนย์วัฒนธรรม การก่อสร้างรถรางความยาว 46 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อทั้ง 5 เขต เข้าด้วยกัน การก่อสร้าง “โอเอซิสทางวัฒนธรรม” ความยาว 9 กิโลเมตร การพัฒนาที่พักในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท กระโจมที่พักแบบหรูหราเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกว่า 10 ล้านตารางเมตร เป็นต้น
.
ตั้งแต่ที่ MBS ได้ประกาศ Vision 2030 เมื่อปี 2559 ซึ่งกําหนดให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม เป้าหมายที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถลดการพึ่งพาน้ํามันได้นั้น ซาอุดีอาระเบียได้เปิดตัวโครงการพัฒนาเมืองแห่งใหม่และเมืองท่องเที่ยวในฝั่งตะวันตกเป็นจํานวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการ NEOM โครงการ Redsea Project โครงการ Amaala และล่าสุดคือโครงการ The Line เพื่อตอบสนองเป้าหมายดังกล่าว
.
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาเมืองอัลอูลามีข้อแตกต่างที่สําคัญจากโครงการที่กล่าวมาข้างต้นอยู่หลายประการซึ่งจะเป็นปัจจัยที่นําไปสู่ ความสําเร็จด้านการท่องเที่ยว ที่สําคัญคือ (1) การเป็นที่ตั้งของมรดกโลกที่ “unseen” อย่างแท้จริง (2) การมีธรรมชาติที่สวยงามตระการตาและที่สําคัญที่สุดคือ (3) การมีชุมชนอาศัยอยู่จริงในพื้นที่ซึ่งพร้อมจะกลายมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่สําคัญที่จะช่วยผลักดันและหล่อเลี้ยงให้โครงการมีความยั่งยืนในอนาคต โดยจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองอัลอูลามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก เช่น การขยายสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นถึง 4 แสนคนต่อปี การจัดโครงการระยะ 5 ปี เพื่อส่งเยาวชนนับพันคนของเมืองไปศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวในต่างประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่เข้ามาเปิดที่พักในแบบต่าง ๆ ในเมือง การจัดงานอีเวนต์ตลอดทั้งปี เช่น เทศกาลบอลลูน เทศกาลอินทผลัม คอนเสิร์ต การแข่งรถยนต์ ฯลฯ เพื่อดึงดูดนักเที่ยวเที่ยว รวมทั้งการก่อสร้างอาคาร Maraya ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจาก Guiness World Records ว่าเป็น อาคารกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งซาอุดีอาระเบีย ได้เลือกใช้อาคารแห่งนี้เป็นที่จัดประชุม Alula GCC Summit เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างกาตาร์กับ Quartet ซึ่งประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอียิปต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบีย ให้ความสําคัญอย่างยิ่งในการใช้โอกาสสําคัญที่ทั่วโลกจับตาในการอวดโฉมอัลอูลาต่อสายตาชาวโลก
.
สำหรับผู้ประกอบการไทยอาจใช้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและบริการ แลกเปลี่ยนความร่วมมือ ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญ หรือร่วมลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะในด้าน hospitality ที่ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยสามารถเข้ามาร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ได้ดี
.
สกญ. ณ เมืองเจดดาห์