สภาวะทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย ในไตรมาส 1/2564
.
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของซาอุดีอาระเบียในไตรมาส 1/2560 มีมูลค่า 706.41 พันล้านริยาล (ประมาณ 188.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 1.55 (มูลค่า GDP ซาอุดีอาระเบีย เพิ่มขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบีย ปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยสาขาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมากที่สุดตามลําดับ ได้แก่ น้ํามันดิบและก๊าซธรรมชาติ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.3 ของ GDP) การบริการของภาครัฐ (คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 20.1 ของ GDP) และ การค้าปลีกและค้าส่ง ภัตตาคาร และโรงแรม (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.6 ของ GDP)
.
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย (real GDP growth) ในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ร้อยละ -3 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ -1 โดยสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บรายได้จากภาคน้ํามันที่ลดลงร้อยละ 11.7 ในขณะที่รายได้จากภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ (non-oil) ขยายตัวร้อยละ 2.9 และการลงทุนของภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ขยายตัวร้อยละ 4.4
.
รายได้ต่อหัวของซาอุดีอาระเบีย (GDP per Capita) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 เท่ากับ 19,895 ริยาล หรือประมาณ 5,305 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.43 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่สูงขึ้นร้อยละ 0.44 จากไตรมาสที่ 4/2563
.
ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งสะท้อนอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพในซาอุดีอาระเบีย ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากเดือนพฤษภาคม 2563 โดยเป็นผลมาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นร้อยละ 15 ซึ่งราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคหลักที่ฉุดให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (ราคาสูงขึ้นร้อยละ 7.4) และการขนส่ง (ราคาสูงขึ้นร้อยละ 19.3)
.
ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับอัตราการว่างงานของซาอุดีอาระเบีย จากสํานักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า ในไตรมาสที่ 1/2564 อัตราการว่างงานของคนซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ร้อยละ 11.7 ลดลงจากไตรมาส 4/2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.6 และนับว่าเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ําที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559
.
สภาวะทางการคลังของซาอุดีอาระเบีย ในไตรมาส 1/2564
.
รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย จัดเก็บรายได้ในไตรมาส 1/2564 จํานวน 204.76 พันล้านริยาล (ประมาณ 54.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 7 โดยจัดเก็บรายได้จากอุตสาหกรรมน้ํามันลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 9 ในขณะที่การจัดเก็บรายได้จากอุตสากรรมอื่นๆ (non-oil) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 39 (เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ภายในประเทศ
.
ในขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 212.20 พันล้านริยาล (ประมาณ 56.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 6 โดยสัดส่วนรายจ่ายของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ที่มีมูลค่ามากที่สุดตามลําดับยังคงเป็นด้านการศึกษา (สัดส่วนร้อยละ 21.19 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด) การทหาร (สัดส่วนร้อยละ 20.5 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด) และสาธารณสุขและการพัฒนาสังคม (สัดส่วนร้อยละ 16.21 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด)
.
ในไตรมาส 1/2564 ซาอุดีอาระเบียขาดดุลงบประมาณจํานวน 7.44 พันล้านริยาล (ประมาณ 1.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.05 ของ GDP ของซาอุดีอาระเบีย โดยในช่วงไตรมาสดังกล่าว ซาอุดีอาระเบียขาดดุลงบประมาณลดลงร้อยละ 78.17 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ซึ่งเป็นการขาดดุลลดลงอย่างมีนัยสําคัญมากอันเป็นผลจากการจัดเก็บภาษี VAT ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2564 ซาอุดีอาระเบีย มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจํานวน 47.84 พันล้านริยาล (ประมาณ 12.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทําให้ซาอุดีอาระเบีย มีหนี้สาธารณะสะสมเท่ากับ 901.36 พันล้านริยาล (ประมาณ 240.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 34 ของ GDP ของซาอุดีอาระเบีย
.
การค้าระหว่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย
.
การส่งออกของซาอุดีอาระเบีย ในไตรมาส 1/2564 มีมูลค่า 212.4 พันล้านริยาล (ประมาณ 56.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 10.8 (ตลาดส่งออกที่สําคัญของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย) โดยการส่งออกน้ํามันของซาอุดีอาระเบีย ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ในขณะที่การส่งออก สินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ํามันก็ขยายตัวร้อยละ 23.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ด้วยเช่นกัน
.
การนําเข้าของซาอุดีอาระเบีย ในไตรมาส 1/2564 มีมูลค่า 137.7 พันล้านริยาล (ประมาณ 36.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 4 (ตลาดนําเข้าที่สําคัญของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และยูเออี) โดยสินค้านําเข้าหลักของซาอุดีอาระเบีย คือ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีการนําเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในขณะที่มีการนําเข้ายานยนต์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 5.7
.
ในส่วนของการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ตามข้อมูลของสํานักงานสถิติซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า ในไตรมาสที่ 1/2564 มูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 5.66 พันล้านริยาล (ประมาณ 48.11 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 10.50 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยเป็นตลาดส่งออกที่สําคัญของซาอุดีอาระเบียอันดับที่ 14 ซึ่งซาอุดีอาระเบียส่งออกสินค้าไปไทยในไตรมาส 1/2560 มูลค่า 3.61 พันล้านริยาล (ประมาณ 30.68 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 8.83 จากช่วงเดียวกัน ของปี 2563 ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งนําเข้าอันดับที่ 14 ของซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียนําเข้าสินค้าของไทยในไตรมาส 1/2564 คิดเป็นมูลค่า 2.04 พันล้านริยาล (ประมาณ 17.34 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 13.32 จากช่วงเดียวกันของปี 2563
.
จากข้อมูลข้างต้นจะสามารถสังเกตได้ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สําคัญของซาอุดีอาระเบียเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจัดเก็บรายได้จากอุตสากรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงอัตราการว่างงานที่มีการปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นฟื้นตัวของเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมากเกินไป จึงมีนโยบายที่จะกระจายการผลิตด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ทางการซาอุดีอาระเบีย ยังมีการประกาศแผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อระดมทุนจํานวน 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สําหรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณสุข ระบบขนส่ง อาคารโรงเรียน การบริการท่าอากาศยาน โรงงานน้ําประปา และการบําบัดน้ําเสียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย นับเป็นโอกาสที่ดีและเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการแสวงหาลู่ทางการค้าการลงทุนในประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงแห่งนี้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด