ในไตรมาสที่ 3/2566 ประมาณการเบื้องต้น (Preliminary estimate) ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวอยู่ที่ 0.2% (YoY) ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ ทำให้ทั้งสามไตรมาสแรกของปี 2566 GDP ของโรมาเนียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.1% (YoY) โดยปัจจัยที่ส่งเสริมมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาครัฐและการลงทุนโครงการภาครัฐ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชน ที่มีแรงขับเคลื่อนด้วยการขึ้นค่าแรงและเงินบำนาญในช่วงต้นปี ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ขัดขวางต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโรมาเนียมาจากการหดตัวของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม

แนวโน้มทางเศรษฐกิจของโรมาเนีย
ธนาคารแห่งชาติโรมาเนียคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินต่อไป แต่โรมาเนียยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์และภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัว นอกจากนี้ ด้านการสะสมทุนถาวรขั้นต้น ยังคงมีสภาพแข็งแกร่งโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสหภาพยุโรปและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของภาครัฐ และตลาดพลังงานโลก
คณะกรรมาธิการยุโรป ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโรมาเนียปี 2567 ว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น โดยคาดว่าได้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะลดลง การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนถาวร และการส่งออก น่าจะขยายตัวมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในเดือน ตุลาคม 2566 รัฐบาลโรมาเนียอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก่อนหักภาษี จาก 3,000 เลย์ เป็น 3,300 เลย์ ส่วนในภาคการก่อสร้าง ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นจาก 4,000 เลย์ เป็น 4,500 เลย์ และด้านเงินบำนาญ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ผู้ที่รับเงินบำนาญหลังเกษียณ จะได้รับในจำนวนที่เพิ่มขึ้น 13.5% ตาดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ

ข้อมูล : สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์
ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
