เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 นาย Saad Sherida Al-Kaabi รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการพลังงานกาตาร์ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กรุงโดฮาว่า กาตาร์ประกาศถอนตัวออกจากสมาชิกโอเปกโดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การตัดสินใจข้างต้นไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของกาตาร์ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประเด็นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโอเปก เนื่องจากกาตาร์ผลิตน้ำมันได้น้อย โดยมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันเพียงร้อยละ 2 ของการผลิตทั้งหมดจากสมาชิกโอเปกหรืออยู่ในลำดับที่ 11 จากสมาชิก โอเปก 15 ประเทศ [su_spacer size=”20″]
หลังการประกาศข้างต้น สื่อมวลชนทั้งในกาตาร์และต่างประเทศได้นำเสนอข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจากบุคคลต่าง ๆ เช่น (1) Sheikh Hamad bin Jassim bin Jabor AI-Thani อดีตนายกรัฐมนตรีกาตาร์เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของกาตาร์เนื่องจากโอเปกกลายเป็นองค์กรที่ไร้บทบาทและกระทบต่อผลประโยชน์ของกาตาร์ (2) นาย Chakib Khelil อดีตประธานโอเปกเห็นว่าการตัดสินใจของกาตาร์ในครั้งนี้อาจเป็นจุดผกผันของโอเปกและจะมีผลด้านจิตวิทยาต่อสมาชิกอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวของซาอุดีฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และ (3) นาย Naeem Aslam, Chief Markets Analyst, ThinkMarkets เห็นว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงออกถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับซาอุดีฯ ที่เพิ่มขึ้น และประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ อาจทําตามกาตาร์หรือร่วมมือกับกาตาร์เพื่อความเป็นอิสระในด้านพลังงานของตนเอง เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ภายใต้การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมาตรการไม่ติดต่อด้วยจาก 4 ประเทศอาหรับ กาตาร์ได้พยายามหาทางออกด้วยการพึ่งพาตลาดนอกภูมิภาคตะวันออกกลาง และแม้สื่อมวลชนท้องถิ่นได้ประชาสัมพันธ์ว่ากาตาร์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตและสภาวะทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นใกล้เคียงกับก่อนถูกคว่ำบาตร แต่ในความเป็นจริงนั้น สถานการณ์กลับไม่ได้ดีดังที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ โดยโครงการก่อสร้างต่าง ๆ หยุดชะงักลง ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าเช่าที่พักลดลง และอัตราการเข้าพักในโรงแรม รวมถึงการใช้บริการในภาคการบริการอื่น ๆ อาทิ ร้านอาหาร ร้านนวด และร้านสปาก็ลดลงเป็นอย่างมาก [su_spacer size=”20″]
ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กาตาร์ต้องดำเนินนโยบายอย่างเป็นเอกเทศเพื่อไม่ให้ถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขของกลุ่มใด และแนวโน้มที่ออสเตรเลียจะสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่เทียบเคียงกับกาตาร์ในกลางปี 2562 ทำให้กาตาร์ต้องเลือกให้ความสำคัญแก่การผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสูงและเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 กาตาร์ได้ประกาศขยายกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากเดิม 77 ล้านตันเป็น 100 ล้านตันภายในปี 2567 (ค.ศ. 2024) [su_spacer size=”20″]
อนึ่ง รัฐบาลกาตาร์ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและภาวะขาดดุลงบประมาณของประเทศจากการปรับคณะรัฐมนตรีกาตาร์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในกระทรวงที่ถือเป็นหัวใจหลักในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ พลังงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา