ภาพรวมเศรษฐกิจ
.
ในปี 2563 เศรษฐกิจกาตาร์ยังมีความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แม้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อในประเทศสูงกว่า 147,000 ราย (ข้อมูล ณ 17 มกราคม 2564) เนื่องจาก (1) กาตาร์ได้เคยปรับตัวจากกรณีวิกฤตการณ์คว่ำบาตรเมื่อปี 2560 (2) เศรษฐกิจกาตาร์มีพื้นฐานที่มั่นคงจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ (ประมาณร้อยละ 46.5 ของ GDP ในปี 2563) ซึ่งการส่งออกยังดําเนินการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบในทันที (short term) เนื่องจากเป็นการค้าและการส่งออกตามสัญญาที่ได้กระทําไว้ก่อนหน้ากับคู่ค้าของกาตาร์ (long term oil indexed contracts) นอกจากนี้ กาตาร์มีเงินทุนสํารองกว่า 370 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
จากรายงาน Global Competitiveness Report 2019 ของ World Economic Forum (WEF) จากทั้งหมด 141 ประเทศ กาตาร์อยู่ในอันดับที่ 29 จากเดิมอันดับที่ 30 และเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเป็นอันดับ 2 ในหัวข้อ Efficiency of the Legal Framework in Challenging Regulations อันดับ 5 ในหัวข้อ Government’s Responsiveness to Change และอันดับ 8 ในหัวข้อ Government Long Term Vision นอกจากนี้ ในด้านธุรกิจ จากการจัดอันดับ Ease of Doing Business จากทั้งหมด 190 ประเทศโดย ธนาคารโลก กาตาร์อยู่ในอันดับที่ 77 จากเดิมลําดับที่ 83 (2561) กาตาร์ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นส่วนหนึ่ง เนื่องจากกาตาร์ได้ปฏิรูปการจัดการ อาทิ (1) กระทรวงยุติธรรมปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนที่ดินโดยการริเริ่มระบบ one stop service จากเดิม 5 ขั้นตอน ส่งผลให้ลดเวลาการโอนอสังหาริมทรัพย์ลง 11 วัน (2) การริเริ่มการรายงานข้อมูลเครดิต (Credit data) จากบริษัทด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ บริษัท Kahramaa ซึ่งเป็นบริษัทด้านสาธารณูปโภคได้ริเริ่มระบบการรับคําร้องเพื่อขอติดตั้งระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดเวลาในการเชื่อมต่อไฟฟ้า เป็นต้น
.
ในปี 2562 อัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงจากปี 2561 ที่ร้อยละ 2.1 เนื่องจากราคาการส่งออกพลังงานที่ตกลง ทั้งน้ํามันและก๊าซธรรมชาติ ต่อมาในปี 2563 เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ ราคาน้ํามันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกตกต่ำลง และประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีอุปสงค์ในการใช้พลังงานลดลง จึงทําให้ GDP ของกาตาร์ในปี 2563 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ดี แม้ว่าการคาดการณ์ GDP กาตาร์ในปี 2563 จะติดลบร้อยละ 3.5 แต่เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม GCC ก็ไม่ได้แตกต่างมากนัก อาทิ โอมาน ติดลบร้อยล 6.2 บาห์เรน ติดลบร้อยละ 5.2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ติดลบร้อยละ 5 ซาอุดีฯ ติดลบ ร้อยละ 4.8 และคูเวตติดลบร้อยละ 0.4 แต่หากพิจารณาสัดส่วนด้านการเงินการคลังกับ GDP ถือได้ว่ากาตาร์มีสัดส่วนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC)
.
เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กาตาร์ได้จัดสรรแก่ผู้ประกอบการ ในประเด็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมศุลกากร การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การผ่อนผันการชําระเงินกู้และภาระผูกพันของภาคเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นจํานวนเงินทุนมากที่สุดใน GCC เมื่อเทียบสัดส่วนงบประมาณที่ลงไปกับ GDP ประกอบกับการสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ เงินหมุนเวียนในประเทศ การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรป ต่อมาในเดือนตุลาคม 2563 สภาพคล่องทางเศรษฐกิจมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการใช้จ่ายของประชากร จึงคาดว่า ในช่วงประมาณต้นปี 2564 เศรษฐกิจของกาตาร์น่าจะฟื้นตัวได้ไม่ต่างจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
.
การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้กาตาร์บริหารจัดการและรับมือกับวิกฤตในมิติที่แตกต่างใน ลักษณะที่ต่อยอดจากเมื่อครั้งเกิดวิกฤตความสัมพันธ์ เมื่อปี 2560 โดยเน้นกระตุ้นนโยบายการสร้างข้อมูลจากธนาคารกลางกาตาร์และ Qatar Investment Authority กาตาร์มีอัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate) ระหว่างปี 2558 – 2562 ที่ร้อยละ 3.2 ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (economic diversification) และลดการพึ่งพาการส่งออก ทําให้กาตาร์มียุทธศาสตร์ที่รองรับความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และสาธารณสุข การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นบททดสอบในการสร้างความเข้มแข็งและยืดหยุ่นด้านสาธารณสุขของกาตาร์ ซึ่งกาตาร์มีแผนที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลภูมิภาคตะวันออกกลาง
.
แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจกาตาร์
.
1. ด้วยปัจจัยประชากรที่มีเพียง 2.8 ล้านคน ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนัก อีกทั้งกาตาร์มีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบที่เกิดจากการคว่ำบาตรเมื่อปี 2560 มาแล้ว การดําเนินการของกาตาร์จึงมีความระมัดระวังด้านการเงินการคลัง และได้เพิ่มการพึ่งพาตัวเอง รวมทั้งการพึ่งพาทางเลือกอื่นทําให้กาตาร์น่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
.
2. ระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่มีปัญหาการเมืองภายในเป็นปัจจัยทําให้การกําหนดนโยบายและการแก้ไขปัญหามีความรวดเร็วทันการ
.
3. กาตาร์วางเป้าหมายของประเทศในทิศทางสอดคล้องกับสถานการณ์โลก อาทิ การลดสัดส่วนของรายได้ประเทศจากก๊าซธรรมชาติและเพิ่มสัดส่วนของการขยายธุรกิจการลงทุนด้านอื่นๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก การจัดเอเชียนเกมส์ปี 2573 (ค.ศ. 2030) โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษการวางทิศทางการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านการกีฬา วัฒนธรรม และสาธารณสุข
.
4. กาตาร์มีนโยบายให้ความช่วยเหลือหลายประเทศมุสลิมในแอฟริกา และกําลังขยายการให้ความช่วยเหลือแก่หลายประเทศในเอเชีย ทั้งหมดนี้จะเป็นฐานทางเศรษฐกิจ การดําเนินนโยบายต่างประเทศ และบทบาทกาตาร์ในเวทีระหว่างประเทศซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของกาตาร์ในอนาคตโดยกาตาร์ได้เห็นสิงคโปร์เป็นแบบอย่างซึ่งเป็นประเทศเล็กแต่พัฒนารวดเร็ว ในขณะที่กาตาร์มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นข้อได้เปรียบ
.
อนึ่งประเทศไทยและกาตาร์มีความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นอย่างมาก และมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการผลิตเครื่องมือแพทย์ ยา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาเส้นทางการทำธุรกิจเกี่ยวกับการสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลภูมิภาคตะวันออกกลางของกาตาร์ผ่านการส่งออกสินค้า ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา