รัฐบาลกาตาร์ออกกฎหมายเลขที่ 12 ปี 2567 ว่าด้วยการจ้างงานคนชาติในภาคเอกชน (Job Nationalization in the Private Sector) ขับเคลื่อนข้อริเริ่มส่งเสริมการจ้างงานคนชาติ (Qatarization) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการจ้างงานคนชาติในภาคเอกชนให้มากขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทเอกชนและการบูรณาการกับสังคมกาตาร์ การสร้างความมั่นคงในตําแหน่งผู้บริหารแก่ชาวกาตาร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของตลาดแรงงานในประเทศสําหรับชาวกาตาร์ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานกาตาร์จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทําและเผยแพร่แผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป
ประเด็นสําคัญภายใต้กฎหมายดังกล่าว เช่น การให้ความสําคัญลําดับแรกในการจ้างงาน ฝึกอบรม และรับชาวกาตาร์และบุตรของสตรีชาวกาตาร์ การให้แรงจูงใจด้านการเงินแก่ชาวกาตาร์และบุตรของสตรีชาวกาตาร์ การจัดทําร่างสัญญาจ้างงานมาตรฐานสําหรับชาวกาตาร์ (standard employment contract templates for job nationalization) รวมถึงการกําหนดให้กระทรวงแรงงานกาตาร์จัดสรรทุนให้การสนับสนุนแก่ชาวกาตาร์ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การฝึกอบรม และการพัฒนาขีดความสามารถร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมพร้อมการเข้าทํางานในภาคเอกชน ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับบริษัท พาณิชย์ที่จดทะเบียนในกาตาร์ (ทั้งเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกึ่งรัฐวิสาหกิจ) สถาบันเอกชนที่ไม่หวังผลกําไร สถาบันกีฬา สมาคม และนิติบุคคลในลักษณะเดียวกัน
พัฒนาการที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงแรงงานกาตาร์จัดเสวนา “Nationalization of Jobs in the Private Sector for 2025 – 2026” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว โดยนำเสนอว่า (1) การส่งเสริมการจ้างงานคนชาติกาตาร์ตามกฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนเพื่อการเตรียมพร้อมที่สอดคล้องกับการทํางานในแต่ละอุตสาหกรรม (2) สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของการส่งเสริมการจ้างงานคนชาติกาตาร์ ได้แก่ การผลิต โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน การศึกษา การเกษตร และการแพทย์ และ (3) กระทรวงแรงงานกาตาร์จะกําหนดสิทธิประโยชน์/แรงจูงใจสําหรับภาคเอกชน ซึ่งอาจรวมถึงการอุดหนุนเงินสมทบที่บริษัทเอกชนต้องจ่ายแก่สํานักงานประกันสังคมและบําเหน็จบํานาญ (General Retirement and Social Insurance Authority) ตลอดจนการมอบรางวัลแก่หน่วยงานที่ประสบความสําเร็จในการส่งเสริมการจ้างงานคนชาติกาตาร์ เพื่อยกย่องความพยายามในการขับเคลื่อนการจ้างงานชาวกาตาร์
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 กระทรวงแรงงานกาตาร์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยกาตาร์เผยแพร่ แนวปฏิบัติสําหรับภาคเอกชนสําหรับการกําหนดวิชาชีพและประเภทการทํางาน (Occupational Description and Classification Guide for the Private Sector หรือ Qatari Standard Classification of Occupations) ซึ่งกําหนดกรอบวิชาชีพจํานวน 3,717 ประเภทจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงตลาดแรงงานในกาตาร์ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการจ้างงานชาวกาตาร์ ตลอดจนกําหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการจ้างงาน เช่น แรงจูงใจในการจ้างงาน การตรวจลงตรา และเอกสารการจ้างงานต่าง ๆ
สรุป
จากข้างต้น ข้อริเริ่มส่งเสริมการจ้างงานคนชาติ (Qatarization) เป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ตาม Qatar National Vision 2030 โดยเฉพาะการสร้างกําลังแรงงานที่มีความสามารถและ ความมุ่งมั่น (capable and motivated workforce) และการเพิ่มการจ้างงานคนชาติกาตาร์ในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่กาตาร์เผชิญจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว การพึ่งพาแรงงานต่างชาติกว่า
ร้อยละ ๙๐ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการย้ายถิ่นฐานของแรงงานไร้ทักษะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คนชาติกาตาร์ยังคงนิยมทํางานในภาคราชการ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความมั่นคงที่มากกว่า
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบัน กระทรวงแรงงานกาตาร์จะยังอยู่ในระหว่างการจัดทํารายละเอียดและแผนงานในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว แต่ในภาพรวม กฎหมายดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ภาคเอกชนในกาตาร์จําเป็นต้อง ปรับเปลี่ยนแนวทางการจ้างงาน การให้สิทธิประโยชน์/สวัสดิการ และการบริหารงบประมาณทั้งแก่แรงงานต่างชาติและคนชาติกาตาร์ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานไทย โดยเฉพาะการจ้างงานระดับผู้บริหารและแรงงานทักษะสูง (high-skill) เนื่องจากข้อจํากัดที่ต้องให้ความสําคัญกับการจ้างงานชาวกาตาร์เป็นลำดับแรก
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์