ในปี พ.ศ. 2566 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกาตาร์กลับสู่ภาวะปกติ ภายหลังการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยรายงานของ IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจกาตาร์จะเจริญเติบโตร้อยละ 2.2 ในปี พ.ศ. 2567 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกาตาร์ที่สําคัญ ได้แก่ สถาบันการธนาคาร/ การเงินมีความเข้มแข็ง การขยายตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน การปฏิรูปและการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ Qatar National Vision (QNV) 2030 เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ กาตาร์ยังได้ประโยชน์จากความผันผวนของราคาพลังงานโลกส่งผลให้สภาวะการเงินและการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่ดีมาก อีกทั้งเศรษฐกิจของกาตาร์ไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ภายนอก อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การสู้รบระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์/กลุ่มฮามาส ความตึงเครียดในทะเลแดง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ประเทศที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุดกับกาตาร์ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย คู่ค้าสําคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ UAE โอมาน และซาอุดีฯ ในขณะที่คู่ค้าหลักของกาตาร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน คือ สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 การค้าระหว่างไทยกับกาตาร์มีมูลค่า 3.789 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้า 3.149 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากไทยมีมูลค่านําเข้า 3.469 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย LNG น้ํามันดิบ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ตามลําดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย คิดเป็น 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ
ด้านการท่องเที่ยว กาตาร์มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวเป็นปีละ 6 ล้านคน และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นร้อยละ 12 ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2573 (ปัจจุบันร้อยละ 7) ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมากาตาร์มากกว่า 4 ล้านคน โดยเป็นการเข้าชมงาน Doha Expo 2023 การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศและกิจกรรมระดับนานาชาติตลอดปี พ.ศ. 2566 และการเยือนของผู้นําและผู้แทนระดับสูงประเทศต่าง ๆ ตลอดจน Trade Fair ในสาขาเกษตร ก่อสร้าง อัญมณี และการท่องเที่ยว และมหกรรมกีฬาระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ AFC Asian Cup และการแข่งขันกีฬาสากลระดับนานาชาติหลากหลายประเภทกีฬา
แนวโน้มและศักยภาพของกาตาร์
เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567 กาตาร์ประกาศใช้ Third National Development Strategy 2024- 2030 (NDS3) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศระหว่างปี ค.ศ. 2024 – 2030 และเป็นแผนระยะสุดท้ายในการขับเคลื่อนการบรรลุวิสัยทัศน์ QNV 2030 เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกาตาร์ในการเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต และพัฒนาให้กาตาร์เป็นสังคมก้าวหน้าภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกําหนดเป้าหมายการพัฒนา 7 ด้าน ได้แก่ (1) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (2) ความยั่งยืนทางการเงิน (3) การส่งเสริมแรงงานเพื่อรองรับอนาคต (4) การส่งเสริมสังคมที่ครอบคลุมที่มุ่งเสริมสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง (5) การยกระดับมาตรฐานการครองชีพระดับสูง (6) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และ (7) หน่วยงานราชการที่มีประสิทธิภาพและความเป็นเลิศ
กาตาร์มีศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาลและยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากรายได้จากการส่งออก LNG/ ไฮโดรคาร์บอน โดยไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2566 มีงบประมาณเกินดุลถึง 16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กาตาร์มุ่งเป้า diversify เศรษฐกิจตาม QNV 2030 เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขาย LNG และสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากเงินทุนมหาศาลเพื่อลงทุนในต่างประเทศ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ค่ายรถยนต์ ห้างสรรพสินค้า ทีมสโมสรฟุตบอลชั้นนําระดับโลก ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข และการศึกษา/มนุษยธรรมกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียใต้
กาตาร์ให้ความสําคัญกับการเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรและศูนย์กลาง R&D ของภูมิภาค เนื่องจากกรุง
โดฮาเป็น educational hub ที่ตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาชั้นนําระดับโลก รวมถึงให้ความสําคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์และการลงทุนด้าน R&D ใน 3 ประเด็นเร่งด่วนสําคัญ คือ ด้านการแพทย์, computing และพลังงาน
โอกาสของไทยในปี พ.ศ. 2567
ประเทศไทยควรเร่งส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ต่อศักยภาพของทั้งไทยและกาตาร์ เพื่อก้าวข้าม
“ภาพจำ” เดิม ๆ ของทั้งสองฝ่าย โดยการสร้าง visibility ของไทยไปพร้อมกับการผลักดันประเด็นที่จับต้องได้และทําได้จริง สอดคล้องกับ QNV 2030 และ NDS3 อาทิ (1) ศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น EEC และ Land Bridge (2) ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และ (3) การผลักดันบทบาทที่สร้างสรรค์และความร่วมมือระหว่างไทย-กาตาร์ ทั้งในเวทีระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของกาตาร์ ของประเทศไทยอาจสนับสนุนการรับประกันความมั่นคงทางอาหารของกาตาร์ ผ่านการส่งออกสินค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตร/อาหาร Smart Farming การเพาะปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา (aquaculture) และการเลี้ยงปลาทะเลในกระชัง
การดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูงทั้งชาวกาตาร์และชาวต่างชาติที่อาศัยในกาตาร์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นปลายทางยอดนิยมในฐานะแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพในราคาสมเหตุสมผลและแหล่งรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับสากล จึงควรต่อยอดการตลาดด้านการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั้งชาวกาตาร์ ชาวต่างชาติในกาตาร์ และผู้เดินทางผ่านกาตาร์ โดยเจาะจงกลุ่มหลัก ๆ อาทิ ชาวเอเชียใต้ ชาวอาหรับ (ทั้ง Levantine/GCC/ แอฟริกาเหนือ) ชาวแอฟริกัน ตลอดจนการส่งเสริม Halal/Muslim-friendly tourism/Wellness เช่น โรงแรม ห้องพัก คู่มือร้านอาหารฮาลาล ตลอดจนบริการอื่น ๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในเมืองหลักและเมืองรอง
การเสริมสร้างความร่วมมือในระดับประชาชน เนื่องจากกาตาร์เป็นสังคมที่เปิดกว้างและมีความเป็นพหุวัฒนธรรม ทําให้ประเทศไทยสามารถส่งเสริมให้นักเรียน/นักศึกษา ไทยมุสลิมมาเรียนที่กาตาร์มากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการแจ้งแรงงานไทยควรหลีกเลี่ยงแรงงานภาคเกษตร-ก่อสร้าง และมุ่งเน้นการเฉพาะแรงงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือโดยเฉพาะ (1) ช่างเทคนิค เฉพาะทางในอุตสาหกรรม Oil & Gas/สาขาการผลิตสินค้าอุปโภค (2) ผู้ให้บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และกายภาพบําบัด และ (3) ครูมวยไทยมืออาชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ชาวไทยมีศักยภาพ มีตลาดแรงงานรองรับ และเป็นศักยภาพและทักษะที่สามารถแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่นได้อย่างดี
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์