GDP โปแลนด์เติบโตเร็วที่สุดใน EU ทั้งรายปีและรายไตรมาส ซึ่งในแง่รายปีเศรษฐกิจโปแลนด์เติบโตร้อยละ 4 ในขณะที่อีก 5 ประเทศใน EU เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของ EU ขยายตัวร้อยละ 0.8 ในขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติโปแลนด์ (GUS) รายงานว่า GDP ของ โปแลนด์ที่ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 และสูงกว่าไตรมาสแรกที่โตขึ้นร้อยละ 2 ในแง่รายไตรมาสเศรษฐกิจโปแลนด์เติบโตร้อยละ 1.5 เทียบกับร้อยละ 0.3 สำหรับ EU โดยรวม
ด้านภาวะเงินเฟ้อของโปแลนด์ สูงติดอันดับ 3 ของ EU ในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการปลดล็อคราคาพลังงานบางส่วนเมื่อเดือน กรกฎาคม 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อโปแลนด์ในเดือน สิงหาคม อยู่ที่ร้อยละ 4 รองจากโรมาเนีย (ร้อยละ 5.3) และเบลเยียม (ร้อยละ 4.3) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของ EU โดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (ลดลงจากร้อยละ 2.8 จากเดือนกรกฎาคม) ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในโปแลนด์จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปีนี้ และจะแตะระดับสูงกว่าร้อยละ 6 ในช่วงต้นปี 2568
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
รัฐบาลโปแลนด์ประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 4,666 สว้อตตี้ต่อเดือน หรือประมาณ 1,089 ยูโร (จากเดิม 4,300 สว้อตตี้ต่อเดือน) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขที่รัฐบาลเคยเสนอไว้ในเดือน กรกฎาคม 2567 ถึง 40 สว้อตตี้ ทำให้ภาคธุรกิจแสดงความห่วงกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
โดยรัฐบาลโปแลนด์ ประเมินว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อแรงงานกว่า 3 ล้านคน ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 11.8 พันล้านสว้อตตี้ (2.75 พันล้านยูโร) และธุรกิจขนาดใหญ่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 3.15 พันล้านสว้อตตี้ (740 ล้านยูโร)
จากผลสำรวจของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในกรุงวอร์ซอและเมืองหลักของโปแลนด์ พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจของร้านอาหารไทยอย่างมาก โดยร้านอาหารไทยบางร้านระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนปี 2558 เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หลังจากปี 2558 ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากและต่อเนื่อง อีกทั้งนอกจากค่าแรงที่สูงขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าสาธารณูปโภคและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีราคา ผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI) ของโปแลนด์ตั้งแต่ปี 2514 (ค.ศ. 1971) ถึงปัจจุบัน แตะจุดสูงสุดในเดือน กรกฎาคม 2567 ที่ 258.80 จุด
นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและร้านนวดไทยว่า ตั้งแต่ปี 2566 การนำเข้าพนักงานจากไทยพบอุปสรรคด้านการขอวีซ่ามากขึ้นทำให้ขาดแคลนแรงงานฝีมือเฉพาะทาง จากปัจจัยความท้าทาย เหล่านี้ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างมากซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสัดส่วนร้านอาหารไทยและร้านนวดไทยในโปแลนด์ได้
อย่างไรก็ตาม ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ จะติดตามผลการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ในประเด็นปัญหาด้านวีซ่าดังกล่าว รวมถึงประเด็นอุปสรรคในการ พิจารณาวีซ่าสำหรับแรงงานและนักเรียนนักศึกษาไทยในโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ต่อไป
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ข้อมูล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ