โบลิเวียเป็นประเทศที่มีลิเทียมสํารองมากที่สุดในโลก โดยมีแหล่งลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทะเลเกลือ Salar de Uyuni (Uyuni salt flats) ตามรายงานล่าสุดของ US Geological Survey คาดว่า โบลิเวียมีลิเทียม จํานวน 21 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของจํานวนลิเทียมในโลก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งลิเทียมมากนักเมื่อเทียบกับอาร์เจนตินาและชิลี ตั้งแต่ปี 2551 รัฐบาลโบลิเวียเริ่มให้ความสําคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมลิเทียม เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มภายในประเทศโดยได้เจรจากับบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมลิเทียม เช่น อิหร่าน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย และเยอรมนี ในปี 2561 โบลิเวียได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท ACI Systems ของเยอรมัน เพื่อสร้างโรงงานผลิตสารประกอบลิเทียมและส่วนประกอบแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อปี 2562 เนื่องจากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าสัมปทาน
.
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ประธานาธิบดี Luis Arce ได้เชิญชวนให้บริษัทต่างชาตินําเข้าเทคโนโลยีการสกัดลิเทียม (direct Lithium-extraction technology – EDL) โดยตรงมายังโบลิเวียและทําการทดสอบนําร่องที่ทะเลเกลือ Salar de Uyuni (Uyuni salt flats) Coipasa และ Pasto Grandes อีกครั้ง ถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ของรัฐบาลโบลิเวีย ในการสรรหาพันธมิตรระหว่างประเทศนับตั้งแต่ความล้มเหลวกับการดําเนินธุรกิจร่วมกับบริษัท ACI เมื่อปี 2562 โดยประธานาธิบดี Luis Arce ได้ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามที่จะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมลิเทียมในโบลิเวียซึ่งเป็นเสาหลักของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
.
นอกจากนี้ โบลิเวียจะดําเนินโครงการสําคัญจํานวน 7 โครงการ ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระดับชาติ ได้แก่ โครงการโรงงานผลิตโซเดียมคาร์บอเนต โรงงานผลิตกรดซัลฟิวริก โรงงานผลิตแคลเซียมไฮดรอกไซด์ โรงงานผลิตกรดไฮโดรคลอริก โรงงานผลิตยางเรเดียล และ การก่อสร้างโรงงานแปรรูปแผ่นไม้อัด และเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุนในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และความร่วมมือในการดําเนินโครงการดังกล่าว
.
เดือนมิถุนายน 2549 รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี Evo Morales ได้ ดําเนินการตามแผนพัฒนาแห่งชาติโบลิเวีย (Plan Nacional de Desarrollo de Bolivia – PND) ใน 4 สาขา ได้แก่ (1) การพัฒนาที่มีส่วนร่วมของสังคม (2) การส่งเสริมการกระจายอํานาจและชุมชน (3) การปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่ม และ (4) การเปลี่ยนแปลงนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับการดําเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ภาครัฐจะควบคุมการพัฒนาเศรษฐกิจการกระจายความมั่งคั่ง และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับภาคเอกชน โดยกําหนดให้อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ไฮโดรคาร์บอน เหมืองแร่ ไฟฟ้า และ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์สินของรัฐ และมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมลิเทียม รวมทั้งทรัพยากรระเหยอื่น ๆ โดยรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ ดําเนินการ และจัดสรรเงินทุน ร้อยละ 100 โดยนักลงทุนสามารถร่วมทุนได้เฉพาะการถ่ายทอด เทคโนโลยีขั้นสูงที่จําเป็นสําหรับการพัฒนาและการดําเนินโครงการในอุตสาหกรรมเฉพาะ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Luis Arce ยังคงดําเนินนโยบายด้านอุตสาหกรรมตามแนวทางเดิม
.
แม้การเมืองของโบลิเวียจะมีความแปรปรวนตามสถานการณ์การแบ่งขั้วทางการเมือง แต่โบลิเวียเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรแร่ธาตุและต้องการดึงดูดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การประกาศเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในโบลิเวียจึงเป็นสัญญาณเชิงบวกจากรัฐบาลโบลิเวียในการเปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และเป็นโอกาสสําหรับนักลงทุนไทยเพื่อริเริ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของโบลิเวียและการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบแร่ธาตุที่สําคัญของโบลิเวีย โดยเฉพาะลิเทียม ซึ่งเป็นที่ต้องการของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบรีชาร์จได้สําหรับการผลิตแล็ปท็อป สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า และแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โบลิเวียจึงอาจเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจและเป็นตลาดใหม่สําหรับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะสําหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของไทย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา