ช่วงวันที่ 1 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2567 เอกอัครราชทูตพร้อมด้วยนายเปายี แวสะแม ที่ปรึกษา ร่วมกับ เอกอัครราชทูตอาเซียน อีก 6 ประเทศ (มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา) ในนามคณะกรรมการอาเซียนกรุงอิสลามาบัด (ASEAN Committee in Islamabad – ACI) ได้เดินทางเยือนเมือง Gujranwala (ห่างจากกรุงอิสลามาบัด 380 กิโลเมตร) เพื่อเข้าร่วมงาน ASEAN Business Forum และพบปะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจ/ผู้ประกอบการในเมือง Gujranwala และเมืองใกล้เคียง ซึ่งจัดโดย Gujranwala Business Centre (GBC) และหอการค้าและอุตสาหกรรมเมือง Gujranwala (Gujranwala Chamber of Commerce and Industry-GCCI) จากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้
กิจกรรม ASEAN Business Forum เป็นกิจกรรมที่เป็นความคิดริเริ่มจากการประสานงานระหว่าง ACI และ GBC เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจระหว่างกัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ศึกษาข้อมูล และเรียนรู้ศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเมือง Gujranwala ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถูกจัดขึ้นครั้งแรกในเมือง Gujranwala กับประเทศใน ACI ในภาพรวม จึงได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจและผู้ประกอบการเข้าร่วมกันอย่างหนาแน่น
ภาพรวมเมือง Gujranwala
เมือง Gujranwala เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเมืองขนาดใหญ่ที่สำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นปัญจาบ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของปากีสถาน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทาง อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของ ประเทศ (อันดับที่ 1 เมืองการาจีแคว้นซินด์ อันดับที่ 2 เมืองไฟซาลาบัด แคว้นปัญจาบ) มีสัดส่วน GDP เฉลี่ยร้อยละ 5 – 9 ของปากีสถาน และยังถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองแห่งสามเหลี่ยมทองคำทางอุตสาหกรรมของปากีสถาน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เมือง ได้แก่ เมือง Gujranwala เมือง Gujrat และเมือง Sialkot ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของปากีสถานให้อยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อลดการนำเข้าและการไหลออกของเงินทุน ประเภทของอุตสาหกรรมสำคัญในเมือง Gujranwala ที่สร้างรายได้ในอันดับต้น ๆ คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ และมีด-ดาบ
ยิ่งไปกว่านั้น ภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่สำคัญของเมือง Gujranwala และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งส่งออกในตลาดตะวันออกกลางและผลิตในรูปแบบ Original Equipment Manufacturer (OEM) ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะยูเออีและซาอุดีฯ ทั้งนี้ อุตสากรรมประเภทอื่นส่วนใหญ่จะผลิตและจำหน่ายภายในประเทศและเป็นที่แพร่หลายในครัวเรือน/ผู้บริโภคท้องถิ่นในราคาที่เข้าถึงได้ โดยกลุ่มลูกค้าหลัก คือ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง
โอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทย
เมือง Gujranwala มุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่าง ๆ การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่ง Gujranwala ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการเพาะปลูกและการปศุสัตว์ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิมของเมือง Gujranwala
ความท้าทาย
อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเมือง Gujranwala เน้นตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับน้อยจนถึงปานกลาง โดยเน้นสินค้าที่สามารถใช้ในครัวเรือนได้และจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหามลภาวะในเมืองที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการจราจรในเมืองและโครงข่ายระหว่างเมืองที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดีตลอดจนปัญหาระบบขนส่งมวลชนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรในเมือง
อย่างไรก็ตาม หากคำนึงถึงช่องทางในการขยายโอกาสทางธุรกิจอาจต้องศึกษาให้รอบคอบ เช่นคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือข้อจำกัดด้านอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม ในเมือง Gujranwala ยังคงต้องพัฒนาและยกระดับโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการผลิต
ทั้งนี้ นักธุรกิจในเมือง Gujranwala ค่อนข้างตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจ จึงน่าจะแสวงหาแนวทางเพื่อจับคู่ทางธุรกิจกับนักธุรกิจ/ผู้ประกอบการไทยได้
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์