ที่ประชุม Joint Cooperation Committee (JCC) ของ CPEC ครั้งที่ 10 เห็นพ้องที่จะบรรจุโครงการพัฒนาชายฝั่งเมืองการาจี (KCCDZ) เข้าไปในกรอบโครงการ CPEC ตามที่ กระทรวงกิจการเดินเรือปากีสถานเสนอต่อที่ประชุม ทั้งนี้ เพื่อสร้างเขตโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย (ultra-modern) บนพื้นที่ความกว้างประมาณ 6.4 ตารางกิโลเมตร ที่จะทำให้ท่าเรือการาจีมีมาตรฐานทัดเทียมกับท่าเรือชั้นนำของโลก ในเบื้องต้น คาดว่า จะใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเป็นการลงทุนโดยตรงของจีนร่วมกับ Karachi Port Trust ซึ่งนับเป็นโครงการแรกในลักษณะดังกล่าวภายใต้ CPEC ทั้งนี้ที่ประชุม CPEC JCC กล่าวว่า โครงการ KCCDZ นับเป็นโครงการเรือธง (Flagship) ที่จะไม่สร้างประโยชน์ให้แก่ปากีสถานเพียงประเทศเดียว แต่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วยเช่นกัน
.
โครงการ KCCDZ ข้างต้น มีแผนที่จะสร้างที่พักอาศัยใหม่ทดแทน (re-settlement) สำหรับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดกว่า 2 หมื่นครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี Imran Khan ในการจัดหาที่อยู่อาศัยราคาถูก (Low-cost Housing) และคาดว่า ในบริเวณท่าเรือเมืองการาจี จะมีการขยายท่าเรือด้วยการสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มอีก 4 ท่า และสร้างท่าเรือประมงที่ทันสมัยเทียบเท่าท่าเรือประมงชั้นนำของโลก พร้อมด้วยเขตการผลิตเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone – EPZ) เพื่อเสริมศักยภาพทางการค้าของปากีสถาน ทั้งนี้โครงการ KCCDZ จะเป็นโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลและลดมลพิษด้วยการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียบริเวณปากน้ำแม่น้ำ Lyari
.
แถลงการณ์ที่ประชุม CPEC JCC กล่าวด้วยว่า โครงการ KCCDZ จะสามารถดึงศักยภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (blue economy) ของปากีสถานที่ยังไม่ได้นำมาใช้ อีกทั้งยังสามารถเสริมศักยภาพในการพัฒนาและต่อยอดความร่วมมือระหว่างจีน – ปากีสถานซึ่งจะเป็นการปรับโฉมประเทศปากีสถาน (game changer) ครั้งสำคัญอีกด้วย
.
ในภาพรวม เมืองการาจีไม่เป็นเพียงเมืองที่ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่มีความเหมาะสมต่อการบังคับใช้กฎหมายและการดูแลความสงบเรียบร้อยที่เข้มงวดอีกด้วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่อาจทำให้เมืองการาจีกลายเป็นศูนย์กลางที่เหมาะสมของโครงการ CPEC ต่อไปในอนาคต ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าโครงการ KCCDZ เป็นโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาและต่อยอดในระยะยาว ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อาจไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันได้ในอนาคต เพื่อการกลับคืนสู่ความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของโลกในอนาคตภายใต้โลกยุคหลัง COVID-19 ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี