อุตสาหกรรมเสื้อผ้า (garment) ของปากีสถานเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ภาคการส่งออกของประเทศในอัตราส่วนที่สูงมาก เพราะการส่งออกเสื้อผ้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และยังนับว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในห่วงโซ่คุณค่าสิ่งทอ (the best performing sector of textile value chain) ของประเทศอีกด้วย
ในปี 2560 การส่งออกเสื้อผ้าของปากีสถานมีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.10 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าของโลก โดยสัดส่วนดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก เช่น กัมพูชา (ร้อยละ 2.49) ตุรกี (ร้อยละ 3.26) อินเดีย (ร้อยละ 3.81) เวียดนาม (ร้อยละ 5.94) บังคลาเทศ (ร้อยละ 7.66) และจีน (ร้อยละ 32) แม้ว่าในปีถัดมา อัตราการส่งออกเสื้อผ้าของปากีสถานจะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงเน้นการผลิตสินค้าเพื่อตลาดภายในประเทศมากกว่าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ
โดยทั่วไป ปากีสถานมีชื่อเสียงในด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะมีช่างฝีมือจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปากีสถานมีเสื้อผ้าในแบบพื้นเมืองและท้องถิ่นของตนเอง เสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่ขายดีในประเทศจึงเป็นเสื้อผ้าพื้นเมืองที่เรียกกันว่าชุด ‘Shalwar kameez’ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กระแสแฟชั่นของปากีสถานมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ซึ่งไม่ได้ผูกติดอยู่กับกระแสแฟชั่นของโลกตะวันตก ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความต้องการตลาดเสื้อผ้าภายในประเทศที่สามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนประการต่างๆ เช่น ราคาสินค้าที่ไม่สูง ค่าแรงที่ถูก และวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยาก จึงกล่าวได้ว่า ธุรกิจเสื้อผ้าในประเทศยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปได้ ดังจะเห็นได้ว่ามีโรงงานเสื้อผ้าและบริษัทผู้นำทางแฟชั่น (fashion house) เกิดขึ้นใหม่ทุกปี และอาชีพนักออกแบบแฟชั่นได้กลายเป็นอาชีพที่สำคัญในแวดวงสังคมของปากีสถานอีกด้วย
จากสถิติระบุว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะเติบโตร้อยละ 5.09 ต่อปีในปี 2565 และคาดว่าจะมากถึง 1,439 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และจะเพิ่มมากถึง 1,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ดังนั้น ด้วยค่าแรงที่ถูก ประกอบกับแรงงานที่มีศักยภาพ ปากีสถานจึงมีความได้เปรียบและกลายเป็นอีกประเทศที่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเข้ามาใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้ภาคอุตสหกรรมดังกล่าว รวมไปถึงสนับสนุนเศรษฐกิจของปากีสถานในระยะยาวได้ต่อไปในอนาคต
ที่มา: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์