เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 Pakistan Institute of Labour Education and Research (PILER) เมืองการาจี ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับ ‘Pre-budget’ สรุปสาระสําคัญจากการสัมมนา ดังนี้
.
Dr. Kaisar Bengali หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของปากีสถาน (อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของมุขมนตรี แคว้นซินด์ และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของรัฐบาลแคว้นบาลูจิสถาน) กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจปากีสถานใกล้สู่จุดที่อาจจะไม่สามารถชําระหนี้สินได้ (Technical Default) ซึ่งการอยู่รอดในปัจจุบันต้องอาศัยเงินกู้ที่มาจากแหล่งกู้ทั้งในและนอกประเทศ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปากีสถานที่ต่ำประกอบกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของอัตราการเติบโตดังกล่าว ทําให้เศรษฐกิจปากีสถานต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤต นอกจากนั้นงบประมาณส่วนใหญ่ที่ปรากฏในแผนการใช้งบประมาณเป็นการใช้จ่ายเพื่อการชําระหนี้และเพื่อการป้องกันประเทศ
.
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจปากีสถานเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภค (Consumption-based) มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องการผลิต (Production-based) สถิติการนําเข้าของปากีสถานสูงกว่าการส่งออกถึง 2 เท่า ซึ่งการนําเข้าส่วนใหญ่จะเป็นการนําเข้าสินค้าพลังงานและอาหาร รัฐบาลปากีสถานต้องให้ความสําคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรท้องถิ่นให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ควรให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industries) เพื่อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทําให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นตามมาด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจปากีสถานเติบโตได้อย่างยั่งยืน และตั้งข้อสังเกตว่าการให้สนับสนุนสินเชื่อให้ธุรกิจภายในประเทศเพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น
.
ด้าน Dr. Iffat Ara นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจํา Social Policy and Development Centre (SPDC) เมืองการาจี กล่าวว่า ประชากรจํานวนร้อยละ 1 เท่านั้นที่เสียภาษีให้กับรัฐบาล อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากประชนกว่าร้อยละ 85 เสียภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ให้แก่รัฐบาลและรายได้ส่วนบุคคลของประชาชนลดลงเนื่องจากการจัดเก็บภาษีทางอ้อมสําหรับสินค้าทั่วไป ทําให้ประชาชนในกลุ่มที่มีฐานะยากจนได้รับผลกระทบจากภาระการเสียภาษีทางอ้อมมากกว่ากลุ่มบุคคลที่มีฐานะร่ำรวย ทั้งนี้ ถึงแม้สินค้าทางการเกษตรและอาหารที่จําเป็นบางรายการจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีสําหรับสินค้าขั้นสุดท้าย (final products) ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วราคาสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้รวมภาษีซื้อ (Input Tax) เข้าไปด้วย เช่น เกษตรกรผู้ปลูกผลิตภันฑ์ทางการเกษตรต้องจ่ายภาษีสําหรับปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อย่างปุ๋ยและยาฆ่าแมลง
.
ปัจจุบัน รัฐบาลปากีสถานพยายามประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เศรษฐกิจในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปากีสถาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ปากีสถานอาวุโสหลายรายมักจะแสดงความเห็นที่สวนทางกับรัฐบาล โดยกล่าวว่า ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจปากีสถานตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างเป็นตัวเลขที่ไม่ยั่งยืน Dr. Kaiser Bengali ได้เคยกล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาปากีสถานต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ถึง 22 ครั้ง
.
(ตั้งแต่ปี 2501) ซึ่งหากรัฐบาลไม่ปฏิรูปนโยบายทางการเงินอย่างจริงจัง ปากีสถานอาจต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF อีกในอนาคต และรัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันให้ความสนใจแต่เพียงการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีเท่านั้น โดยมองข้ามประเด็นการลดรายจ่ายการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมใหม่ และการหาแหล่งรายได้จากที่ใหม่
.
ดร. Aneel Satman ผู้อำนวยการสถาบัน Development Academy ประจํา COMSATS University กรุงอิสลามาบัด กล่าวว่า ปัจจัย 4Us ทําให้เศรษฐกิจปากีสถานต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติ คือ 1) Unsustainability 2) Unstability 3) Unequitability และ 4) Uncertainty
.
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ปัญหาหนี้สินของปากีสถานทวีความรุนแรงมาก ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะหนี้สินที่เกิดจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน – ปากีสถาน (China Pakistan Economic Corridor – CPEC) รวมทั้งกระแสข่าวจีนปฏิเสธคําขอของปากีสถานที่ขอปรับโครงสร้างหนี้สินจํานวน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะมองว่าปากีสถานอาจจะไม่สามารถชําระหนี้สินตามกําหนดได้ในที่สุด ทั้งนี้ หนี้สินส่วนใหญ่จากโครงการ CPEC เกิดขึ้นจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้า (Independent Power Producers – IPP) ที่ใช้สัญญาลักษณะ Take-or-Pay ซึ่งมูลค่าการลงทุนโดยบริษัทเอกชนจีน มากกว่า 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ภายในปี 2568 ปากีสถานมีกําหนดชําระหนี้สินดังกล่าว จํานวน 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ปากีสถานอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จะได้รับรายได้จากกระแสไฟฟ้าดังกล่าว
.
โรงไฟฟ้าหลายแห่งไม่เกิดรายได้ ประกอบกับ ความล้มเหลวของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงานในการพัฒนาโครงข่ายระดับประเทศ (National Grid) และการแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนระดับรากหญ้า อาจทําให้การลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่ประสบผลดั่งที่หวังไว้
.
การสัมมนาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ ในการจัดการด้านภาษีและการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นก็แสดงให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติได้รับรู้ถึงจุดมุ่งเน้นของภาคเศรษฐกิจปากีสถานในด้านการบริโภค การนําเข้าสินค้าพลังงานและอาหาร การสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรท้องถิ่น รวมไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มอัตราการจ้างงานและส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสการเป็นฐานการส่งออกสินค้าจากนานาประเทศได้อีกด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี