เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2562 สื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ในเมืองการาจี เสนอข่าวเกี่ยวกับเขตปลอดภาษี เมือง Gwadar แคว้นบาลูจิสถาน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones – SEZS) ภายใต้โครงการระเบียบเศรษฐกิจจีน – ปากีสถาน (China Pakistan Economic Corridor – CPEC) มีสาระสำคัญดังนี้
[su_spacer]
- เขตปลอดภาษีGwadar
The National Development Council (NDC) ซึ่งมีนาย Imran Khan นายกรัฐมนตรีปากีสถานเป็นประธาน เห็นชอบมาตรการจูงใจทางภาษี ด้วยการยกเว้นภาษีสําหรับภาคธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นภายในเขตปลอดภาษี Gwadar Free Zone ภายใต้โครงการ CPEC ซึ่งก่อนหน้านี้ นาย Hafeez Sheikh ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลังของนายกรัฐมนตรีปากีสถาน (ตําแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี) ได้เคยเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาประเด็นการกําหนดมาตรการจูงใจทางภาษี แต่ก็ไม่เกิดผล จึงต้องนําเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม NDC อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่านาย Sheikh ยังคงต้องรอรายงานความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่จะสามารถดําเนินการในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้
[su_spacer]
ภายหลังจากที่พรรค Pakistan Tehrik-e-Insaf (PTI) ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลบริหารและปกครองปากีสถาน โครงการต่าง ๆ ภายใต้ CPEC ต้องประสบกับปัญหาความล่าช้า โดยเฉพาะโครงการเขตปลอดภาษี Gwadar ระยะที่ 2 ที่มีความคืบหน้าน้อยมาก จึงทําให้คณะกรรมการ NDC ต้องใช้อํานาจที่มีอยู่เข้าไปแทรกแซง เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลังจากนี้ เรื่องการกําหนดมาตรการลดหย่อนและยกเว้นภาษีก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีปากีสถาน ผ่านคณะกรรมการ Economic Coordination Committee (ECC) ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจปากีสถาน
[su_spacer]
เขตปลอดภาษี Gwadar เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมือง Gwaddar ซึ่งเดิมที Port Gwadar Authority ได้ลงนามความตกลงในสัญญาสัมปทานบริหารท่าเรือ (Port Concession Agreement) กับ Port Authority of Singapore ตามความเห็นชอบของ คณะกรรมการ ECC เมื่อปี 2550 ต่อมาเมื่อปี 2556 บริษัท China Overseas Ports Holding Company Limited (COPHCL) เข้ามาบริหารกิจการท่าเรือต่อจาก Port Authority of Singapore ซึ่งตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้มีการระบุถึงการยกเว้นภาษีสําหรับผู้ประกอบการบริหารท่าเรือและภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษีฯ ด้วย
[su_spacer]
ที่ผ่านมา รัฐบาลปากีสถานภายใต้การนําของพรรค Pakistan Muslim League – Nawaz (PML-N) ได้เคยออกประกาศยกเว้นภาษีเป็นเวลา 23 ปี สําหรับผู้ประกอบการบริหารท่าเรือ (Port Operator) แต่ไม่มีการระบุถึงการยกเว้นภาษีสําหรับภาคอุตสาหกรรมในเขตปลอดภาษีแต่อย่างใด และเมื่อโครงการเขตปลอดภาษี Gwadar ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2561 โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ก่อตั้งภายในเขตปลอดภาษีฯ ต่างชะลอการการนําเข้าวัตถุดิบสําหรับการก่อสร้างและอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการจูงใจด้านภาษีก่อน ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2562 ประเด็นดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ECC แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากความแตกต่างทาง ความเห็นของกระทรวงต่าง ๆ
[su_spacer]
แหล่งข่าวข้างต้นระบุด้วยว่ากระทรวง Maritime Affairs ได้เสนอให้ยกเว้นภาษีสําหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากเขตปลอดภาษีฯ และเสนอให้ยกเว้นภาษีสําหรับผู้รับเหมาและผู้รับเหมาช่วง ตลอดจนการลดหย่อนภาษีสําหรับรายได้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เพื่อการลงทุนในเขตปลอดภาษีทุกประเภทเป็นเวลา 23 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้น ยังได้เสนอให้มีการยกเว้นภาษีนําเข้าสําหรับเรือขนส่งสินค้าและเรือประมง ทั้งจาก ต่างประเทศและในประเทศที่เข้าเทียบเรือที่ท่าเรือ Gwadar ทั้งนี้ คณะกรรมการ ECC ได้สั่งการให้กระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนําข้อเสนอต่าง ๆ ไปศึกษาและสรุปให้คณะกรรมการ ECC พิจารณาต่อไป
[su_spacer]
อย่างไรก็ตามสำนักงาน Federal Board of Revenue (FBR) แสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยต่อมาตรการยกเว้นภาษีให้แก่ภาคธุรกิจและผู้รับเหมาช่วง ตามแนวทางที่กระทรวง Maritime Affairs เสนอ โดยระบุว่าควรยกเว้นภาษีให้แก่ภาคธุรกิจระยะเวลาเพียง 10 ปี เท่านั้น ภายใต้ พรบ. เขตเศรษฐกิจพิเศษปี ค.ศ. 2011 นอกจากนั้น สนง. FBR ยังให้เหตุผลว่า ปัจจุบันปากีสถานสูญเสียรายได้ปีละประมาณ 970 พันล้านรูปีฯ อันเนื่องมาจากมาตรการลดหย่อนและยกเว้นภาษี และ หากต้องบังคับใช้มาตรการลดหย่อนและยกเว้นภาษีใหม่จําเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน และไม่สามารถดําเนินการได้ทันที
[su_spacer]
- 2. Special Economic Zones (SEZs)ภายใต้โครงการCPEC
การจัดตั้ง SEZs นับเป็นหนึ่งในกลไกที่มีความสําคัญของโครงการ CPEC จึงได้ปรากฏในบันทึกข้อตกลงระหว่างจีนและปากีสถาน (MoU) เกี่ยวกับการจัดตั้ง SEZs ในปากีสถานภายใต้โครงการ CPEC ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2559 คณะกรรมการ Joint Corporate Committee (JCC) ปากีสถาน – จีน ได้จัดการประชุมเพื่อคัดเลือกสถานที่ที่จะจัดตั้ง SEZs จากทั้งหมด 37 แห่งที่ฝ่ายปากีสถานได้เสนอไป ซึ่งมติที่ประชุมได้จัดลําดับความสําคัญของการจัดตั้ง SEZs จํานวน 9 แห่ง ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะดําเนินการในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ SEZs ทั้ง 9 แห่ง ปรากฏข้างใต้นี้
[su_spacer]
ชื่อ | แคว้น | ลักษะอุตสาหกรรม |
Rashakai Economic Zone | ไคเบอร์ปักตุนควา (KPK) | ผลไม้/การบรรจุผลไม้/สิ่งทอ |
China Special Economic Zone, Dhabeji | ซินด์ | ยังไม่ได้กำหนด |
Bostan Industrial Zone
|
บาลูจิสถาน | แปรรูปผลไม้/เครื่องจักรการเกษตร/เวชภัณฑ์/ประกอบจักรยานยนต์/อุตสาหกรรมแร่โครไมต์/น้ำมันปรุงอาหาร/เซรามิค/ห้องเย็น/อุปกรณ์ไฟฟ้า/อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล |
Allama Iqbal Industrial City, Faisalabad | ปันจาบ | สิ่งทอ/เหล็ก/เวชภัณฑ์/วิศวกรรม/เคมีภัณฑ์/แปรรูปอาหาร/พลาสติก/เกษตร |
ICT Model Industrial Zone, Islamabad | อิสลามาบัด | เหล็ก/แปรรูปอาหาร/เคมีภัณฑ์/เวชภัณฑ์/การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ |
Development of Industrial Park on Pakistan Steel Mills Land, Port Qasim | ซินด์ | เหล็ก/ยานยนต์/เวชภัณฑ์/เคมีภัณฑ์/การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์/เสื้อผ้าสําเร็จรูป |
Special Economic Zone at Mirpur | Azad Jammu & Kashmir (AJK) | ยังไม่ได้กําหนด |
Mohammad Marble City | Federally Administered Tribal Areas (FATA) | ยังไม่ได้กําหนด |
Moqpondass SEZ, Gilgit-Baltisan | Gilgit-Baltisan | หินอ่อน/แร่ธรรมชาติ/แปรรูปผลไม้/เหล็ก/เครื่องหนัง |
[su_spacer]
แหล่งข่าวจากสำนักงาน Bol ปากีสถาน ระบุว่า ภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ไป โครงการ CPEC จะมุ่งเน้นการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ซึ่งถือเป็นการจัดลําดับความสําคัญที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Rashakai แคว้น KPK เขตเศรษฐกิจพิเศษจีน Dhabeji แคว้นซินด์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ Allama Iqbal Industrial City แคว้นปันจาบ ซึ่งในระยะอันใกล้นี้ คาดว่าโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Rashakai แคว้น KPK จะเป็นโครงการแรกที่จะเริ่มพิธีวางศิลาฤกษ์ อย่างไรก็ตาม โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เหลือยังคงอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้จากทั้งสองฝ่าย ซึ่งอุปสรรคและปัญหาที่พบเจอคือ การเวนคืนที่ดินสําหรับจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การให้บริการสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ จากภาครัฐที่ยังไม่พร้อม ปัญหาความปลอดภัย และปัญหาโครงพื้นฐานที่จําเป็น เป็นต้น
[su_spacer]
- ข้อสังเกต
เมื่อ มิ.ย. 2562 นายกรัฐมนตรีปากีสถานได้สั่งการให้จัดตั้ง National Development Council (NDC) ซึ่งมี นายกรัฐมนตรีปากีสถานเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้บัญชาการสูงสุดปากีสถาน (รวม 13 คน) เป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการ NDC มีหน้าที่กําหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อเร่งรัดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศทันทีที่มีการจัดตั้ง คณะกรรมการ NDC ได้จัดการประชุมเพื่อเร่งรัดให้มีการกําหนดมาตรการจูงใจทางด้านภาษีสําหรับเขตปลอดภาษี Gwadar โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความล่าช้า จนทําให้ภาคอุตสาหกรรมต้องชะลอการนําเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์/วัตถุดิบสําหรับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องมาตรการการลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษี ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า การจัดตั้งคณะกรรมการ NDC อาจจะช่วยผลักดันและเร่งรัดให้มีการออกมาตรการต่าง ๆ เร็วขึ้น และจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
[su_spacer]
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ปากีสถานได้สรุปความท้าทายของรัฐบาลปากีสถานในการจัดตั้ง SEZs ภายใต้โครงการ CPEC ดังนี้ (1) ปัญหาสถานที่ตั้งของ SEZs ซึ่งในการเลือกสถานที่ รัฐบาลปากีสถานต้องก้าวข้ามประเด็นทาง การเมือง และเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด คํานึงถึงความคุ้มค่าและการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นหลัก (2) ปากีสถาน ยังขาดทรัพยากรบุคคลที่สามารถจะตอบโจทย์ SEZs ได้ ซึ่งอาจทําให้รัฐบาลต้องเสียโอกาสการจ้างงานของแรงงาน ปากีสถานในเขต SEZs (3) ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งสถาบันทางการเงินย่อมเลือกที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินให้แก่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทํางานในเขต SEZs (4) รัฐบาลควรต้องประสานนโยบาย SEZs ให้สอดคล้องกับนโยบาย SEZs ของจีน เพื่อลดต้นทุนการทําธุรกิจ ดังนั้น พันธกรณีของรัฐบาล และความต่อเนื่องของนโยบาย เป็นปัจจัยสําคัญของความสําเร็จของ SEZs (5) เพื่อให้การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก (export-oriented industries) รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบดําเนินธุรกิจโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล (laissez faire) และสร้างระบบที่สามารถจะอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการได้ (6) บุคคลกรรัฐยังขาดองค์ความรู้ (knowhow) ด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจทําให้ลดประสิทธิภาพการทํางาน สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลคือการเสริมศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐ และ (7) ความเชื่อมโยงและเครือข่ายภายในประเทศ (Local Connectivity) และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านสาธารณูปโภคนับเป็นปัจจัยสําคัญที่สามารถจะลดต้นทุนในการทําธุรกิจได้
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี