โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) เป็นโครงการเชื่อมต่อที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายตั้งต้นเพื่อเชื่อมโยงมิติด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ทันสมัยและเปิดกว้างประตูเศรษฐกิจสู่อนาคต โดยปัจจุบัน โครงการ CPEC กำลังดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในมิติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเกษตร และเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมในโครงการ CPEC ขณะนี้ประกอบด้วยเคมีภัณฑ์ อะไหล่รถยนต์ เวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิคส์ เหล็กหล่อ วัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้า และสิ่งทอ
.
โดยผู้ลงทุนจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากศูนย์บริการของโครงการ CPEC ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามและให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในปากีสถาน โดยการเลือกเข้ามาลงทุนในปากีสถานมีจุดแข็งที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก การมีตลาดภายในขนาดใหญ่ รวมไปถึงแรงงานในประเทศที่ทักษะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ประการที่สอง ปากีสถานมีอัตราค่าแรงที่ต่ำกว่าจีน มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากได้
.
นอกไปจากนั้น โครงการ CPEC ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสนับสนุนการลงทุนระหว่างจีนกับปากีสถานเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมจากประเทศต่าง ๆ ที่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่ครอบคลุม 9 แห่งด้วยกัน โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษและการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลปากีสถาน ซึ่งในขณะนี้มีนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาสร้างโรงงานในหลายพื้นที่แล้ว เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ จีน สหราชอาณาจักร เป็นต้น
.
สิ่งท้าทายโครงการ CPEC ในปัจจุบัน คือ ปากีสถานจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น (Up-skill & Reskill) เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษและเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลกเป็นอย่างมาก นอกไปจากนั้นศักยภาพของปากีสถานยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่น ๆ ได้ เช่น ไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ในประเด็นด้านการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตในระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตยางที่เข้ามาลงทุนในปากีสถานมักเป็นบริษัทขนาดกลาง เช่น Chaoyang จากประเทศจีนซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เนื่องจากปากีสถานขาดอุตสาหกรรมในการเชื่อมต่อแบบครบวงจร และไม่มีวัตถุดิบที่เพียงพอในการผลิตยาง เช่น ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
.
เมื่อพิจารณาจากขนาดของปากีสถานที่มีตลาดภายในขนาดใหญ่ ประกอบกับอัตราการใช้ยานพาหนะลำเลียงขนส่งสินค้าในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์และอุตสาหกรรมการส่งชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ สามารถพิจารณาขยายตลาดและเข้าไปลงทุนในปากีสถานได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์