ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา Pakistan Bureau of Statistics (PBS) ได้จัดทำรายงานสำคัญเกี่ยวกับการส่งออกของปากีสถาน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้
การส่งออกของปากีสถาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.37 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงหมวดหมู่ของสินค้าส่งออก พบว่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ เช่น ในเดือนเมษายน 2564 การส่งออกสินค้าประเภทอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เมื่อเปรียบเทียบสถิติเดือนต่อเดือน (MoM) โดยสินค้าอันดับ 1 ในประเภทอาหารคือ การส่งออกข้าว Basmati ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 ในขณะเดียวกัน การส่งออกปลามีอัตราการขยายตัว เช่นเดียวกันกับการส่งออกข้าว Basmati ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.85 โดยการส่งออกอันดับต้น ๆ ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คือการส่งออกผ้าฝ้ายและเครื่องนอน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 15
สถิติการนําเข้าของปากีสถานในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่ารวมทั้งหมด 5.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.02 เมื่อเปรียบเทียบสถิติ MoM และเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.13 เมื่อเปรียบเทียบสถิติ YoY ทั้งนี้ ปากีสถานเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ซึ่งนําไปสู่การปิดเมืองหลัก ๆ (lockdown) ทั่วประเทศในบางช่วงเวลาเพื่อลดการแพร่ระบาดฯ ทําให้มูลค่าการค้าลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การนําเข้ากลับสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยเฉพาะในเดือน มีนาคม 2564 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับการนําเข้าในเดือน กุมภาพันธ์ 2564
ในส่วนของประเภทสินค้านําเข้าในกลุ่มอาหารที่ขยายตัวมากที่สุดคือ น้ํามันปาล์ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 คิดเป็นเงินกว่า 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนําเข้าสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยเฉพาะการนําเข้าฝ้ายดิบและเส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic Fiber) ในขณะที่การนําเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 นอกจากนั้น พบว่ามีความต้องการนําเข้ารถยนต์ทั้งประเภทที่ผลิตสําเร็จรูป (Completely Build up – CBU) และ รถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศโดยใช้ชิ้นส่วนหรืออะไหล่นําเข้า (Completely Knock Down – CKD)
ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (กรกฎาคม – กันยายน 2563) อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 และรายงานของ ธนาคารแห่งชาติปากีสถาน (State Bank of Pakistan – SBP) พบว่า ในเดือน มีนาคม 2564 มูลค่าการส่งออกของปากีสถาน เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 20 คิดเป็นเงินกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงที่สุด นับตั้งแต่ มิถุนายน 2554 อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นของเงินรูปีอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา อาจทําให้การส่งออกชะลอตัว หรือถึงขั้นหยุดชะงัก ทั้งนี้ ค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ระหว่างเดือน สิงหาคม – พฤศจิกายน 2563 ซึ่งไม่ได้ทําให้การส่งออกลดลง แต่กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ค่าเงินรูปีทรงตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกที่ 3 แตกต่างจากผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 2 ระลอกก่อนหน้านี้ ด้วยจํานวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจํานวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้ อาจส่งผลกระทบทางใดทางหนึ่งต่อแนวทางการค้าของปากีสถาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปีงบประมาณ ค.ศ. 2019 – 2020 เศรษฐกิจปากีสถานประสบกับภาวะวิกฤติเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจติดลบร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบในรอบ 7 ทศวรรษ รายได้เฉลี่ยต่อบุคคล (Per Capita Income) ลดลงจาก 1,625 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,325 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดเมือง (lockdown) เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทําให้จํานวนคนตกงานเพิ่มขึ้น และทําให้จํานวนประชากรที่ยากจนเพิ่มขึ้นตามมา
นอกจากนี้ ธนาคารโลก (World Bank-WB) ฉบับล่าสุดยังได้มีรายงานหัวข้อ “South Asia Economic Focus: South Asia Vaccinates, Spring 2021” พูดถึงการระบาดระลอกใหม่ของไวรัส COVID-19 ที่มีสายพันธุ์ใหม่หรือกลายพันธุ์เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสําคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของปากีสถาน และเพิ่มความล่าช้าในการปฏิรูปโครงสร้างที่สําคัญ อาจนําไปสู่ความไม่สมดุลต่อระบบการเงิน และ เศรษฐกิจมหภาคของปากีสถานต่อไป
ทั้งนี้ ปากีสถานนับเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และยังสามารถเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลางที่สำคัญอีกด้วย
ซึ่งในขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเปิดตลาดสินค้าและปรับปรุงข้อเสนอสำหรับการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับปากีสถาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเจรจามาตั้งแต่ปี 2558 จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออก โดยเฉพาะ สินค้าประเภทเส้นใยสังเคาะห์ อุปกรณ์รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่เป็นสินค้าคุณภาพส่งออกของไทย และมีแนวโน้มการขยายตัวในการนำเข้าของปากีสถานสูง ผู้นำเข้าและส่งออกจึงควรศึกษาและติดตามนโยบายเขตการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน รวมถึงสิทธิพิเศษทางภาษีในอนาคตอย่างใกล้ชิด
สกญ. ณ เมืองการาจี
แหล่งที่มา:
https://www.dtn.go.th/th/negotiation/5cff75751ac9ee073b7bf03b?cate=5cff753c1ac9ee073b7bd2c2
https://www.ryt9.com/s/beco/3191004
https://www.prachachat.net/columns/news-364157