วันที่ 4 มี.ค. 2564 สื่อท้องถิ่นในปากีสถานได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าของปากีสถานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.64 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (ก.ค. 2563 – ก.พ. 2564) โดยมีสาระสําคัญ ดังนี้
.
ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ปากีสถานขาดดุลการค้าเพิ่มร้อยละ 10.64 หรือคิดเป็นมูลค่า 17.54 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนที่ขาดดุลการค้า 15.85 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยการขาดดุลการค้าของปากีสถานได้ขยายตัวขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 จนกระทั่งในเดือน ก.พ. 2564 การขาดดุลขยายตัวถึงร้อยละ 23.93 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.52 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับเดือน ก.พ. 2563 ที่มูลค่าการขาดดุลอยู่ที่ 2.03 พันล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี การขาดดุลในเดือน ก.พ. 2564 หดตัว ลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 5.87
.
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การหดตัวของมูลค่าการนําเข้าสินค้าของปากีสถานช่วยให้รัฐบาลปากีสถานมีเวลาในการวางแผนและดําเนินการในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออก อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนําเข้าที่กลับมาขยายตัวมากขึ้นในช่วงนี้จะสร้างแรงกดดันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะขาดดุลการค้าในอนาคตแก่ฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างมาก ซึ่งนาย Razak Dawood ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการค้า ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าผ่าน Twitter ว่า กระทรวงพาณิชย์ปากีสถานคาดว่าสาเหตุหลักเกิดจากการนําเข้าวัตถุดิบ และสินค้าช่วงกลาง (Intermediate goods) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ในขณะที่การนําเข้าสินค้าทุน (Capital goods) และสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer goods) ลดลง ร้อยละ 0.2 และ 7.3 ตามลําดับ อย่างไรก็ดี การนําเข้าสินค้าเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตกําลังอยู่ในช่วงขยายตัว ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “Make-in-Pakistan” ที่เน้นการนําเข้าสินค้าเพื่อการส่งออกและลดการนําเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย กําลังดําเนินไปในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ ปากีสถานยังจําเป็นต้องนําเข้าข้าวสาลีและน้ำตาลจํานวนมาก เพื่อสร้างเสถียรภาพ ราคาสินค้าในตลาดภายในประเทศ รวมถึงต้องนําเข้าสินค้าฝ้ายเพื่อสนับสนุนในอุตสาหกรรมส่งออกผ้าฝ้ายของปากีสถาน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รายได้เข้าประเทศจากชาวปากีสถานโพ้นทะเล (Remittances) ซึ่งมีมูลค่าต่อเดือนมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ฯ (ช่วง ก.ค. 2563 – ม.ค. 2564 remittances มีมูลค่ารวม 16.47 พันล้านดอลลาร์ฯ) มีส่วนช่วยอย่างมากในการชดเชยการขาดดุลการค้าของปากีสถาน
.
จากนโยบาย Made in Pakistan และการกีดกันการนำสินค้าของปากีสถาน ผู้ประกอบการควรติดตามพัฒนาการที่อาจกระทบต่อการทำธุรกิจหรือส่งออกสินค้า โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดเดิม หรือพิจารณาตลาดใหม่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบยานยนต์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังปากีสถานนั้น สามารถส่งออกไปยังประเทศอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งถึงแม้มีการระบาดของโรค COVID-19 แต่ยังคงมีตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด