นาย Manzar Alam ซึ่งเป็น CEO บริษัท Qadi Noori Enterprise กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ทางการจีนได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากผู้ส่งออกปากีสถานจำนวน 9 ราย จากผู้ส่งออกทั้งหมด 50 ราย โดยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ประมาณ 15 ราย เป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบการปนเปื้อนของไวรัส COVID-19 บนกล่องบรรจุภัณฑ์อาหารทะเลในตู้ขนส่งสินค้าที่ส่งมาจากปากีสถาน โดยนาย Manzar ระบุว่า ในกรณีที่ตรวจพบไวรัส COVID-19 บนกล่องบรรจุภัณฑ์หรือปนเปื้อนในอาหารทะเลต่อการขนส่ง 1 ครั้ง ทางการจีนจะสั่งห้ามไม่ให้ผู้ส่งออกปากีสถานส่งออกอาหารทะเลไปยังจีน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และหากตรวจพบการปนเปื้อน 4 ครั้ง จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ส่งออกเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบัน การส่งออกอาหารทะเลไปยังจีนยังอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากการส่งออกออกอาหารทะเลของปากีสถานไปยังจีน คิดเป็นร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของปากีสถาน
.
โดยระหว่างปี ค.ศ. 2018 – 2021 ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย (Average Unit Price – AUP) ของอาหารทะเลปากีสถานต่ำกว่า 2.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกอยู่ระหว่าง 5 – 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม โดยราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของอินเดียอยู่ที่ 5 – 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม และบังคลาเทศ 7 – 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในปี ค.ศ. 2021 ปากีสถานส่งออกอาหารทะเลจำนวน 184,386 ตัน คิดเป็นเงิน 414 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลของ Economic Survey 2021 พบว่า ตลาดส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของปากีสถาน คือ จีน ไทย มาเลเซีย และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ศรีลังกา และญี่ปุ่น
.
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนนำเข้าอาหารทะเลจากปากีสถานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าอาหารทะเลจากปากีสถานจึงควรเข้มงวดด้านมาตรฐานสำหรับอาหารทะเลนำเข้ามากขึ้น เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้โดบตรง อย่างไรก็ดี การที่จีนห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากปากีสถานถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลของไทยที่ได้มาตรฐานสามารถส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากประเทศไทยเองนั้นมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารทะเลเช่นกัน
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี