เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 Kankeiren (Kansai Economic Federation) ร่วมกับ Kansai Association of Corporate Executives จัดงานสัมมนา Kansai Economic and Management Summit ครั้งที่ 59 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ“ Building a New Future beyond the Crisis: Now is the Time Kansai Shows Our Real Power” โดยงานสัมมนาได้ให้ความสําคัญกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของเอกชนเพื่อตอบสนอง ต่อการแพร่ระบาดของโควิด–19 และการปรับตัวสู่โลกยุคหลังโควิด–19 และได้แบ่งการสัมมนาเป็น 2 ช่วง คือ (1) ช่วงการปาฐกถาพิเศษ และ (2) ช่วงการสัมมนารายหัวข้อ
.
ช่วงการปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. Hiroaki Miyata คณะแพทยศาสตร์ ม. เคโอะ และ Thematic Project Producer, Osaka Kansai Expo 2025 การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นเป้าหมายสําคัญในช่วงยุคหลังโควิด-19 โดย ดร. Hiroaki ได้ให้ความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นล้าหลังต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ในด้านสังคมดิจิทัล และปัจจุบันการที่จีนส่งเสริมการใช้ digital yuan ทําให้หลายฝ่ายต้องปรับตัวดังจะเห็นได้จากการที่ EU เริ่มพิจารณาการใช้ digital euro ภายในระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากหากไม่ปรับตัวอาจถูก overrun ด้วย digital yuan ของจีนได้ในอนาคต ทั้งนี้ ยังได้แนะนำว่าการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลจะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data) เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพฤติกรรมผู้บริโภคนําไปสู่การพัฒนาสินค้า/การบริการที่ personalize สะท้อนตลาดที่มีความต้องการที่หลากหลายในปัจจุบัน และจะช่วยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของชุดข้อมูลด้านสุขภาพที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณสุขในภาพรวม หรือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งงาน Osaka Kansai Expo 2025 ก็จะให้ความสําคัญกับเป้าหมายการเปลี่ยนสังคมปัจจุบันสู่สังคมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานแนวคิด human Co – being ซึ่งหมายถึงการที่ทุกชีวิตร่วมมือกันเพื่อให้สังคมมีความเจริญรุ่งเรือง และตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของแต่ละปัจเจกบุคคลด้วย
.
สำหรับในช่วงการสัมมนารายหัวข้อ เริ่มด้วยการสัมมนาหัวข้อ International Community and Economic Policy in the Era of Coexistence with the Novel Coronavirus โดย ดร. Akihiko Tanaka ประธาน National Graduate Institute for Policy Studies นําเสนอสถานการณ์ต่างประเทศที่กระทบญี่ปุ่น ผ่าน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) ความท้าทายจากโควิด -19 โดยเฉพาะการปรับ global supply chain เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประชาชนภายในประเทศและ (2) การผงาดขึ้นของจีน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่นทั้งในด้านความมั่นคง ทางทหาร และเศรษฐกิจ ทําให้ญี่ปุ่นต้องปรับแนวทางการลงทุนในจีน ผ่านการพิจารณาการกระจายความเสี่ยงและการเก็บ “core technology” ไว้กับญี่ปุ่นเอง และ (3) แนวทางของญี่ปุ่นในบริบทปัจจุบัน ญี่ปุ่นต้องกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และให้ความสําคัญกับการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับเอเชียและยุโรปผ่าน FOIP เพื่อ contain จีน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน บริบทที่โลกเผชิญกับกระแส protectionism ญี่ปุ่นได้รับการชื่นชมว่าเป็นผู้ปกป้องระบบพหุภาคี/แนวคิดเสรีนิยม และ ดร. Akihiko ก็ยังให้คำแนะนำว่าเพื่อคงสถานะดังกล่าวนั้น ญี่ปุ่นต้องส่งเสริมบทบาทนําของตนในประเด็นสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศและข้อริเริ่มต่าง ๆ เช่น carbon neutral นอกจากนี้ ดร. Yasuhide Yajima, Chief Economist, NLI Research Institute ก็ได้นําเสนอประเด็นที่ต้องแก้ไขในช่วงยุคหลังโควิด-19 ได้แก่ (1) การฟื้นฟูอุปสงค์ภาคเอกชน เร่งการฟื้นตัวด้านการบริโภคและการลงทุน ซึ่งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนเป็นไปได้ช้า เนื่องจากปัจจัยของวัคซีนที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนตกต่ำ (2) เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่หลากหลายกว่าเดิม (3) ปรับปรุงระบบการบริหารภาครัฐให้มีความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากกรณีโควิด-19 รัฐบาลญี่ปุ่นมีความล่าช้าในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือสถานการณ์ และ (4) นโยบายจัดการปัญหาประชากรที่ลดลงและการเป็นสังคมผู้สูงอายุ
.
ช่วงอภิปรายภาคเอกชนญี่ปุ่นได้อภิปรายอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น เช่น (1) ประเด็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจจากจีนและประเด็นความล้าหลังด้านเทคโนโลยีต่อจีนกับเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในจีนและประเทศอื่น ๆ (2) ประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 เปิดโอกาสให้เกิดการทํางานนอกบริษัทโดยอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น เกิดกระแส Workation ในหลายบริษัทใหญ่และจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นการแก้ปัญหาการกระจุกตัวในกรุงโตเกียว ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีบริษัท Pasona ที่ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ได้เริ่มดําเนินการย้ายสำนักงานใหญ่ไปตั้งที่เกาะ Awaji จ. เฮียวโกะ เพื่อลดความหนาแน่นจากการทํางานในกรุงโตเกียวและเพื่อเตรียมความพร้อมของบริษัทในการรับมือภัยพิบัติในอนาคต โดนภาคเอกชนก็ได้มองว่าหากในอนาคตรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนในประเด็นนี้ก็จะช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อีกด้วย (3) การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนความล่าช้าของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลของญี่ปุ่นทําให้ขาดข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อรับมือสถานการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นที่ญี่ปุ่นจะต้องเร่งรัดกระบวนการดังกล่าวให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้าง platform ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล โดยเริ่มตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นตอนการนําไปปฏิบัติจริง ที่สำคัญคือภาคเอกชนเห็นว่าภูมิภาคคันไซมีจุดแข็งคือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย มีที่ตั้งใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการสร้างความร่วมมือให้ง่ายยิ่งขึ้น จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสําหรับการพัฒนานวัตกรรมต่อไป
.
จากบทความข้างต้นที่ได้เล่าเกี่ยวกับประเด็นสำคัญภายในงานสัมมนาฯ จะเห็นได้ว่าการสัมมนาได้สะท้อนเป้าหมายต่าง ๆ ที่เอกชนในภูมิภาคคันไซต้องการผลักดัน และเป้าหมายดังกล่าวก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์คันไซ 2030 ที่นําเสนอโดย Kankeiran เมื่อ ธ.ค. 2563 โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนิยมใน ประเทศ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งภาคเอกชนพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับโอกาสการจัด Osaka Kansai Expo 2025 เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคคันไซในอนาคต ทั้งนี้ การกล่าวพาดพิงจีนในหลากโอกาสแสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่นเริ่มวิตกกังวลต่อบทบาทของจีนในฐานะภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทําให้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อกระจายความเสี่ยง และแนวคิดการเก็บเทคโนโลยีขั้นสูงไว้ภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มเติมเพื่อปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล ความต้องการของภาคเอกชนญี่ปุ่น และความต้องการของผู้บริโภคภายในญี่ปุ่น ผ่านการใช้ดิจิทัลเพื่อช่วยวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data) รวมถึงแสวงหาธุรกิจที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาประชากรที่ลดลงและการเป็นสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ภายใต้กลยุทธ์การเอาชนะและต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย การร่วมลงทุนด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การสร้างความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของญี่ปุ่น ก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจของผ็ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ การแสวงหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนนั้น อาจนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจไทย และการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา