ในด้านแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม
.
World Bank ได้ประเมินว่าในปี 2564 เศรษฐกิจโอมานอาจขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 และในปี 2565 อาจขยายตัวถึงร้อยละ 6.5 จึงมีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจของโอมานจะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ในกลุ่มประเทศ GCC บนเงื่อนไขว่าราคาน้ํามันดิบจะสามารถทรงตัวในระดับที่สูงกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (ปัจจุบันราคาน้ํามันดิบโอมานอยู่ที่ 62.75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และมีแนวโน้มที่ราคาจะสูงขึ้น) นอกจากนี้ ภาวะการขาดดุล งบประมาณของโอมานได้ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8 ของ GDP จากเดิมร้อยละ 17 ในปี 2563 ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า สถานะบัญชี งบประมาณของโอมานจะสามารถปรับสมดุลได้หากระดับราคาน้ํามันดิบปรับตัวสูงขึ้นถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
.
ในด้านสถานะงบประมาณและหนี้ของโอมาน
.
ในปี 2564 รัฐบาลโอมานได้จัดทํางบประมาณรายจ่ายแบบเกินดุลกว่า 4.2 พันล้านริยาล (เท่ากับ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทําให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีต้องระดมทุนเพื่อชําระหนี้เป็นจํานวน 2.37 พันล้านริยาล (6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้วยการออกตราสารหนี้จํานวน 1.77 พันล้านริยาล และต้องไถ่ถอนกองทุนสํารอง จาก Oman Investment Authority (OIA) อีกจํานวน 600 ล้านริยาล อย่างไรก็ดี รัฐบาลโอมานยังมีภาระที่ต้องหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมในปีนี้อีกประมาณ 1.83 พันล้านริยาล (4.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
.
IMF ยังได้ประเมินด้วยว่า หากรัฐบาลโอมานยังคงปฏิบัติตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และราคาน้ํามันดิบในตลาดโลกมีอัตราคงที่หรือสูงกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ภาวะการขาดดุลงบประมาณของโอมานน่าจะปรับลดเหลือเพียงร้อยละ 5.4 ของ GDP (1.6 พันล้านริยาลหรือ 4.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลโอมานเองก็ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการขาดดุล งบประมาณให้เหลือร้อยละ 1.7 ของ GDP ภายในปี 2567
.
มาตรการสําคัญด้านเศรษฐกิจของโอมาน
.
ปัจจุบันความพยายามและทิศทางในการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของโอมานมีความชัดเจนมากขึ้น และได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลโอมานจะสามารถปรับลดรายจ่ายที่ไม่จําเป็นของภาครัฐลงได้มากพอสมควร และที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้โอมานประคับประคองเศรษฐกิจของตนไปได้ โดยไม่ถึงกับต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากกลุ่มประเทศ GCC ดังที่เคยมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
.
รัฐบาลโอมานจึงได้ออกมาตรการตามแผน Mid-term Fiscal Plan ของโอมาน (พ.ศ. 2563 – 2567)ได้แก่
.
1) การยกเลิกการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ําและค่าไฟฟ้า) โดยเริ่มตั้งแต่มกราคม 2564
2) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2564
3) การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (personal income tax) โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้สูง (คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2565) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มรายรับของรัฐให้ได้ถึง 6 พันล้านริยาล (15.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4) การลดสวัสดิการภาครัฐและหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดรายจ่ายภาครัฐลงได้ถึง 5 พันล้านริยาล (13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
5) การเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ โดยตั้งเป้าที่จะลดรายจ่ายลงกว่า 1.47 พันล้านริยาล (3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2567
.
ในด้านการปรับโครงสร้างและแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
.
1) มีการจัดตั้งบริษัท Energy Development Oman (EDO) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 โดยได้ควบรวมกิจการของ Petroleum Development Oman (PDO) ซึ่งในอดีตเป็นรัฐวิสาหกิจด้านปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของโอมาน ทําให้ในปัจจุบัน EDO ถือครองหุ้นร้อยละ 60 ของการผลิตน้ํามันใน block 6 ซึ่งถือว่ามีกําลังผลิตมากที่สุดของประเทศ ทั้งนี้ บริษัท ปตท. สผ. ของไทยได้ถือหุ้นจํานวนร้อยละ 2 ในโครงการผลิตและสํารวจปิโตรเลียมที่แหล่งผลิตดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทฯ ได้แต่งตั้งให้นาง Haifa At Khaif (ประธาน Saudi Arabian unit of State Street Corp. และ Financial Director ของ PDO) เป็นผู้บริหารคนใหม่ของ EDO ในปัจจุบัน
.
2) รัฐบาลโอมานอยู่ระหว่างการเจรจาขายหุ้นของ EDO ซึ่งอาจมีมูลค่า กว่า 3 พันล้านริยาล (7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และได้ประกาศขายหุ้นของกลุ่มบริษัท OQ (Oman Qaboos) รอบแรกจํานวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายจะระดมทุนให้ได้ถึงจํานวน 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2569 เนื่องจากการประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องของรัฐบาล ทําให้รัฐบาลอาจไม่สามารถอัดฉีดเม็ดเงิน ให้กับบริษัทได้อีก โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้อัดฉีด งบประมาณจํานวน 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ OQ โดย บริษัทสูญเสียรายได้กว่า 1.58 พันล้านริยาล (4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงที่ราคาน้ํามันตกต่ํา โดย บริษัท Oman oil และ บริษัท Oman Oil Refineries and Petroleum Industries (ORPIC) ซึ่งเป็น บริษัทลูกของ OQ สูญเสียรายได้กว่า 1.34 พันล้านริยาล (3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ OQ เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียมและก๊าซ ธรรมชาติ ประกอบด้วยกลุ่มบริษัทลูกจํานวน 9 บริษัท และปัจจุบัน OQ ถือเป็นหุ้นส่วนของ บริษัท กัลฟ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (GIH) ประเทศไทย ในการร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและโรงงานน้ำ Duqm Integrated Power & water Project ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Duqm ด้วย
.
3) ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา Oman Investment Authority (OIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 เพื่อกระชับอํานาจในการบริหารจัดการแหล่งทุนกองทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจของโอมานทั้งหมด ได้รับโอน Muscat Stock Exchange (เดิมคือ Muscat securities Market) เข้ามาอยู่ในสังกัดซึ่งเชื่อว่าเป็นมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกิจการทั้งระบบ นอกจากนี้ บริษัท Omantel ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมกําลังอยู่ระหว่างการเจรจาขายสัมปทานเสารับส่งสัญญาณเพื่อระดมทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
แผนการปฏิรูปโครงสร้างและมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจข้างต้น สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างค่อนข้างราบรื่นและได้รับการตอบรับในทางบวกจากสาธารณชนและชาติตะวันตก ซึ่งมองว่าการบริหารจัดการของรัฐบาลโอมานมีความโปร่งใสและตอบสนองต่อภาวะวิกฤติด้านการคลังของประเทศได้ตรงจุด โดยดัชนี Corruption Perception Index ของโอมานได้ปรับตัวดีขึ้น 7 ลําดับ (โอมานอยู่ในลําดับที่ 49) อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆทางเศรษฐกิจเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมายและการควบคุมดูแลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวของรัฐด้วย
.
อย่างไรก็ตาม การว่างงานในหมู่คนรุ่นใหม่ของโอมานยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลสําหรับรัฐบาล แม้ว่าสถิติที่เป็นทางการจะระบุจํานวนคนตกงานอยู่ที่ประมาณ 65,500 คนจากประชากรสัญชาติโอมานทั้งหมด 2.7 ล้านคน แต่แรงกดดันและความไม่พอใจต่อรัฐบาลในเรื่องนี้ถือว่ามีค่อนข้างสูงและต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติราคาน้ํามันดิบตกต่ำ พ.ศ. 2557 โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นประชากรมากกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ ถือว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่านโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลโอมานต้องดําเนินการคู่ขนานไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจ คือการเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานชาวโอมานในบริษัทเอกชนและการบังคับใช้ Omanisation policy อย่างเข้มข้นต่อไป
.
โอมานเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญและเป็นตลาดที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะ พลังงานน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยังเป็นสิ่งที่โอมานต้องการ สำหรับโอกาสของ SMEs ในกลุ่มเครื่องสำอาง หมอนยางพารา ผลิตภัณฑ์พลาสติก ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน เครื่องดื่มสมุนไพร ขนม สินค้าตกแต่งประเภทไม้แกะสลัก ตลอดจนไม้หอมประเภทกฤษณา นั้นเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในโอมาน และยังมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดส่งเสริมการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเชื่อมการลงทุนไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ภูมิภาคแอฟริกา หรือเชื่อมการส่งออกไปยังสหรัฐฯโดยใช้ประโยชน์จาก FTA ผ่านประเทศโอมานได้
.
สอท. ณ กรุงมัสกัต
.
แหล่งอ้างอิง:
https://www.mfa.go.th/th/country/OM?page=5d5bcb3915e39c3060006816&menu=5d5bd3c715e39c306002a883
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_562164
https://www.thansettakij.com/content/columnist/146648