การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจนอร์เวย์อย่างมาก โดยเฉพาะจากมาตรการระงับหรือจำกัดการเปิดทำการของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สายการบินและร้านอาหารต่าง ๆ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของ GDP และมีการจ้างงานประมาณร้อยละ 7 ของแรงงานทั้งประเทศ โดยธนาคารกลางของนอร์เวย์คาดการณ์ว่า ในปี 2563 GNP ของประเทศ จะปรับตัวลดลงถึงประมาณร้อยละ 5-6 (ปี 2562 GNP ร้อยละ 1.2) ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะลดลงกว่าร้อยละ 7.7 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.3 (ปี 2562 ร้อยละ 2.3) โดยตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 จำนวนผู้ว่างงาน/ผู้ถูกพักงานชั่วคราวสูงขึ้นถึง 389,900 คน และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ใหม่ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. 63 จนถึงปัจจุบัน ลดลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจปรากฏว่า ร้อยละ 43 ของภาคเอกชนรายใหญ่ในนอร์เวย์ยังคงเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายใน 1 ปี
[su_spacer]
ในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 2563 ธนาคารกลางของนอร์เวย์ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่มีปัญหาในการชำระหนี้ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน/การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.5 เหลือร้อยละ 1 (เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563) และจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2563) และจากร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0 (เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2563) ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์ ทั้งนี้ นาย Øystein Olsen ผู้ว่าการธนาคารกลางนอร์เวย์ได้กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายของนอร์เวย์จะคงที่ที่ระดับร้อยละ 0 อยู่ระยะหนึ่ง และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
[su_spacer]
ทั้งนี้ รัฐบาลนอร์เวย์ได้ประกาศนโยบายการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจนอร์เวย์ออกมาเป็น 3 ระยะ คือ
[su_spacer]
- ระยะที่1 (เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 รัฐบาลนอร์เวย์ประกาศมาตรการ national lockdown) รัฐบาลนอร์เวย์เน้นการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในการรักษารายได้แก่ประชาชน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ เพื่อ หลีกเลี่ยงการเลิกจ้างงานและการล้มละลาย โดยรัฐบาลบังคับใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การตั้งระบบให้เงินกู้แก่ SMEs การตั้งกองทุนตราสารหนี้เพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดใหญ่ การจ่ายเงินชดเชยจากการถูกให้ออกจากงาน (unemployment benefit) ล่วงหน้า การขยายช่วงเวลาที่จะได้รับเงินชดเชยจากการถูกให้ออกจากงานออกไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 แม้ว่าจะเกินกำหนด 26 สัปดาห์ตามกฎหมายกำหนด เป็นต้น
- ระยะที่2 (เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ภายหลังประกาศ national lockdown ประมาณ 2 สัปดาห์) รัฐบาลเน้นการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ภายใต้มาตรการสำคัญ ได้แก่ การให้เงินชดเชยค่าใช้จ่ายที่เป็น fixed costs (ค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าประกันภัยต่าง ๆ) การลดจำนวนวันที่นายจ้างต้องจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีลูกจ้างติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น
- ระยะที่3 (เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 รัฐบาลนอร์เวย์ประกาศมาตรการผ่อนปรน) รัฐบาลเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในวงเงินงบประมาณ 27 พันล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อ สร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการและสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นให้กับประชาชน ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ลดการว่างงาน (2) ส่งเสริมความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ (3) ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (4) พัฒนาด้านการศึกษา และ (5) สร้างการมีส่วนร่วมของสังคมผ่านการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่
- การปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม (Green Restructuring Package) ที่มุ่งเน้นเรื่องพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจาก Hydrogen และพลังงานลมนอกชายฝั่ง
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคมนอร์เวย์ของชุมชนผู้อพยพ
- การสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายในวงเงิน 250 ล้านโครนนอร์เวย์
- การปฏิรูปและพัฒนาการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ภายในวงเงิน 800 ล้านโครนนอร์เวย์
- การช่วยเหลืออุตสาหกรรมเดินเรือ ภายในวงเงิน 120 ล้านโครนนอร์เวย์
- การช่วยเหลือบริษัทที่เริ่มกลับมาจ้างงานพนักงานที่ได้ถูกเลิกจ้าง ภายในวงเงิน 3.6 พันล้านโครนนอร์เวย์
- การพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดซื้ออุปกรณ์ 4.8 พันล้านโครนนอร์เวย์
[su_spacer]
ในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจข้างต้นทั้ง 3 ระยะ รัฐบาลนอร์เวย์ต้องนำเงินกองทุน Government Pension Fund หรือกองทุนน้ำมัน ออกมาใช้ถึง 4 แสนล้านโครนนอร์เวย์ (คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของมูลค่ากองทุนฯ) ซึ่งเพิ่มสูงกว่าปีที่แล้วถึงประมาณร้อยละ 70 โดยจำนวนเงินกองทุนฯ ที่นำออกมาใช้ในครั้งนี้ ถือว่า เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการกองทุนที่ให้นำเงินออกมาใช้ได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น
[su_spacer]
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายของนอร์เวย์ต่อไปคือ การเร่งสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย และลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันให้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น วิกฤตโควิด-19 น่าจะเป็นโอกาสและจังหวะที่รัฐบาลนอร์เวย์จะอัดฉีดงบประมาณในการปฏิรูปด้านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรมและพลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว
[su_spacer]