ประเทศนอร์เวย์เริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในประเทศเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ผ่านนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ประกอบกับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ประเทศนอร์เวย์ก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยจากข้อมูลสถิติเปิดเผยว่า ประเทศนอร์เวย์มียอดจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าซื้อใหม่ต่อจำนวนประชากร (EVs per capita) สูงที่สุดในโลกประจำปี 2564 อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. มาตรการกำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ซื้อใหม่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ Hybrid
ตามที่รัฐบาลนอร์เวย์ได้ประกาศมาตรการให้รถยนต์ส่วนบุคคลทุกคันที่ซื้อใหม่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ Hybrid (รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า) โดยมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการขนส่งและจราจรแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก มีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2565-2576
2. การสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการ
การสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เป็นความท้าทายของรัฐบาลนอร์เวย์และรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ เพราะปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
โดยนอร์เวย์ได้เสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่อรัฐสภานอร์เวย์ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ ดังนี้
- เสนอให้จัดสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะในเมืองใหญ่ 10 เมืองแรก ให้ได้สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 10 คันต่อแท่นชาร์จหนึ่งแท่น เป็นอย่างน้อย
- เสนอให้จัดสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะในเมืองอื่นๆ ให้ได้สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 20 คันต่อสถานีชาร์จหนึ่งแท่น เป็นอย่างน้อย
- เสนอให้จัดสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะแบบชาร์จเร็ว ให้ได้สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 100 คันต่อสถานีชาร์จหนึ่งแท่น เป็นอย่างน้อย
3. ความท้าทายในการสร้างแรงจูงใจให้กับการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศ
แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลนอร์เวย์ให้ความสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้นของห่วงโซ่ กล่าวคือ กระบวนการสกัดแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ไปจนถึงกระบวนการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ โดยตั้งเป้าว่านอร์เวย์จะเป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนเพื่อการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ทั้งนี้ นอร์เวย์มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่ำ โดยนอร์เวย์มีศักยภาพที่จะต่อยอดเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ในระดับสากลได้
แม้นอร์เวย์จะตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ในอนาคต แต่รัฐบาลนอร์เวย์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายบางประการ ได้แก่ (1) การขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (2) การขาดนักลงทุนจากต่างประเทศ (3) ยังมีแหล่งแร่ลิเธียมภายในประเทศไม่มากพอ และ (4) การก่อสร้างโรงงานต้องใช้ทั้งระยะเวลาและเงินลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากต้องใช้สถานที่ขนาดใหญ่สำหรับการก่อสร้างและการวางระบบการขนถ่ายสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ
จึงกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศต่าง ๆ เพื่อร่วมกันรักษาอุณหภูมิของโลกให้ดำรงอยู่ในสภาวะปกติ ความท้าทายครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับการก้าวผ่านความท้าทายนี้
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์