สำนักงานสถิติแห่งชาติไนจีเรียได้รายงานว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ยอดนําเข้ารถใช้แล้วของไนจีเรีย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “Tokunbo” ลดลงร้อยละ 83 เมื่อเทียบเป็นรายปี เหลือ 138,620 ล้านไนรา จาก 819,150 ล้านไนราในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 และหากแยกรายไตรมาสตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่แสดงดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวม พบว่า
(1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ไม่มีการนําเข้ารถใช้แล้วเมื่อเทียบกับมูลค่าการนําเข้ารถใช้แล้ว 69,230 ล้านไนราในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566
(2) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มูลค่าการนําเข้ารถใช้แล้วอยู่ที่ 138,620 ล้านไนรา ซึ่งลดลงร้อยละ 81.5 เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 749,920 ล้านไนราในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
ทั้งนี้ การนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วของไนจีเรียที่ลดลงนั้น เป็นผลจากเมื่อปี 2566 รัฐบาลไนจีเรียได้ออกกฎหมายภาษีชุดใหม่สำหรับยานพาหนะนําเข้า รวมถึงภาษีอื่น ๆ โดยระบบภาษีใหม่กําหนดให้ยานพาหนะนําเข้าที่มีความจุระหว่าง 2,000 (2.0 ลิตร) ถึง 3,999 เครื่องยนต์ (3.9 ลิตร) จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่เรียกว่า ภาษีปรับการนําเข้า (Import Adjustment Tax – IAT) ร้อยละ 2 ของมูลค่ารถยนต์ ในขณะที่ยานพาหนะที่มีความจุ 4,000 เครื่องยนต์ (4.0 ลิตร) ขึ้นไปจะต้องเสียภาษีปรับการนําเข้าร้อยละ 4 ของมูลค่ารถยนต์ ซึ่งภาษีใหม่เป็นส่วนเพิ่มเติมจากภาษีนําเข้าร้อยละ 35 ที่ผู้นําเข้ารถยนต์จะต้องจ่าย
อย่างไรก็ดี รถยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 2,000 ซีซี รถโดยสารประจำทาง รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ที่ผลิตในประเทศได้รับการยกเว้นภาษี IAT ดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้แก้ไขรายการห้ามนําเข้ารถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุเกิน 12 ปีนับจากปีที่ผลิต แต่ในเดือนมีนาคม 2567 สำนักงานศุลกากรไนจีเรียได้ประกาศระงับการเรียกเก็บภาษีนําเข้าร้อยละ 25 สำหรับรถยนต์ที่นําเข้าโดยผิดกฎหมาย
ข้อมูลเพิ่มเติม
(1) ตลาดรถยนต์ในไนจีเรียเป็นตลาดธุรกรรมรถยนต์ใช้แล้วหรือรถยนต์มือสอง คิดเป็นกว่าร้อยละ 95 ในแต่ละปีการซื้อขายรถยนต์มือสองมีมูลค่าประมาณ 700,000 คัน โดยมีรถยนต์มือสองนําเข้ามากกว่า 200,000 คัน รถยนต์ของไนจีเรียส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยรถยนต์ใช้แล้วราคาถูกจะครองตลาดไนจีเรียเป็นเวลานานขึ้น ทั้งนี้ ข้อจํากัดเกี่ยวกับรถยนต์มือสองที่นําเข้ามายังไนจีเรีย คือ สามารถนําเข้ามาได้เฉพาะรถยนต์พวงมาลัยซ้ายเท่านั้น
(2) การลดลงของการนําเข้ารถยนต์มือสองในไนจีเรียส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในไนจีเรีย ดังนี้
(2.1) ผลด้านบวก
– การลดลงของรถยนต์มือสอง ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อรถยนต์ใหม่หรือรถยนต์มือสองในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการผลิตและการขายรถยนต์ในประเทศ
– การเพิ่มขึ้นของการผลิตในประเทศ นําไปสู่การสร้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์
– ลดการพึ่งพาการนําเข้า โดยการลดลงของการพึ่งพาการนําเข้ารถยนต์มือสองช่วยลดการนําเข้าจากต่างประเทศ ช่วยทำให้เศรษฐกิจของไนจีเรียเข้มแข็งขึ้น
(2.2) ผลด้านลบ
– การลดลงของการนําเข้ารถยนต์มือสอง ทำให้ราคาของรถยนต์ใหม่และรถยนต์มือสองในประเทศสูงขึ้น
– ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อรถยนต์ใหม่หรือรถยนต์มือสองได้ เนื่องจากราคาสูงขึ้น
– การลดลงของการนําเข้ารถยนต์มือสอง ทำให้การแข่งขันในตลาดรถยนต์ในประเทศลดลง และยังทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น
– การลอยตัวของค่าเงินไนรา ทำให้ราคารถยนต์มือสองผันผวนและขึ้นลงตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
(2.3) ผลกระทบด้านอื่น ๆ
– การลดลงของการนําเข้ารถยนต์มือสอง ทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศมีน้อยลง
– การลดลงของการนําเข้ารถยนต์มือสอง ทำให้ตลาดรถยนต์มือสองภายในประเทศเติบโตมากขึ้น แต่การควบคุมคุณภาพของภาครัฐทำได้ยากขึ้น
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
