สำนักงานสถิติแห่งชาติไนจีเรีย (National Bureau of Statistics – NBS) รายงานว่า เงินเฟ้อในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 มีอัตรา 18.12% และ 17.93% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยที่สูงในระดับ 18% อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และอันดับที่ 7 ของทวีปแอฟริกา โดยนักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่า สาเหตุหลักประกอบด้วย
.
1. รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยในเดือน เมษายน 2564 รายได้จากน้ำมันดิบลดลงสูงสุดถึง 98% เมื่อเทียบกับรายได้ในเดือน มีนาคม 2564 จากจำนวน 35.72 พันล้านไนร่า เหลือจำนวน 723 ล้านไนร่า ซึ่งส่งผลต่อรายได้หลักของประเทศ เนื่องจากรายได้จากน้ำมันและก๊าซมีอัตราถึง 10% ของ GDP และ 50% ของงบประมาณประเทศ
.
2.ไนจีเรียขาดดุลการค้ามากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยการส่งออกในไตรมาส 1 ของปี 2564 มีมูลค่า 2.91 ล้านล้านไนร่า คิดเป็น 29.79% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าถึง 6.85 ล้านล้านไนร่า คิดเป็น 70.21% ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าที่สูงสุดตั้งแต่ปี 2551 โดยขาดดุลการค้าถึง 3.94 ล้านล้านไนร่า และเป็นการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง 6 ไตรมาสติดต่อกัน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนพฤษภาคม 2564 ลดลงเหลือ 34.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวน 34.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน เมษายน 2564
.
3.ในเดือนมิถุนายน 2564 ธนาคารกลางไนจีเรียจำเป็นต้องประกาศลดค่าเงินไนร่า ลงเหลือจำนวน 410 ไนร่าต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมจำนวน 350 ไนร่าต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่อาจเป็นการยิ่งสร้างสภาวะเงินเฟ้อและเพิ่มระดับความยากจนของประชากรมากขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าต้องใช้เงินตราต่างประเทศมากขึ้นในการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนของสินค้า
.
นอกจากนี้ สภาวะเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยดัชนีผู้บริโภค (consumer index) ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 ดัชนีผู้บริโภคมีอัตรา 22.78% และ 22.28% ตามลำดับ ขณะที่ในเขตชนบทดัชนีผู้บริโภคยิ่งมีอัตราสูงขึ้น เช่น รัฐ Kogi มีอัตรา 32.82% และรัฐ Kwara มีอัตรา 26.02% โดยจากข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกระบุว่า ราคาสินค้ากลุ่มอาหารทุกรายการมีอัตราสูงขึ้น เช่น ปลาแห้ง 1 กิโลกรัม จากเดิมราคา 7,500 ไนร่า เป็นราคา 11,000 ไนร่า และผักสดนำเข้าจากเดิมราคา 2,200 ไนร่า เป็นราคา 4,900 ไนร่า รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ใช่อาหารและการบริการทุกรายการก็มีราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ตัดผมและเสริมสวย เฟอร์นิเจอร์ พรมและวัสดุปูพื้น น้ำมันรถยนต์ บัตรโดยสารเครื่องบิน หรือค่าเล่าเรียนบุตร นอกจากนี้ ดัชนีค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขสูงขึ้นเฉลี่ยถึง 15.90% ในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยา ค่าบริการทางการแพทย์ ทันตบริการ และค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลสูงขึ้นตาม โดยธนาคารโลกได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาระยะเวลา 1 ปี เงินเฟ้ออาหาร (food inflation) มีค่าถึง 70% ของอัตราเงินเฟ้อรวม ซึ่งทำให้ประชาชนต้องใช้รายได้ถึง 65% เพื่อใช้จ่ายในการซื้ออาหาร ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี
.
จะเห็นได้ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของไนจีเรียอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไนจีเรีย ทำให้ค่าครองชีพของประชนสูงขึ้น รวมถึงการที่ค่าเงินไนร่าของไนจีเรียลดต่ำลง ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้สามารถซื้อสินค้าจากไนจีเรียได้ในราคาที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี ในด้านการลงทุน ถึงแม้นักลงทุนอาจได้ประโยชน์จากค่าเงินไนจีเรียที่ต่ำลง แต่เนื่องจากระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้นักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุน ควรพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้เข้าไปลงทุนในไนจีเรียแล้ว สามารถพิจารณากระจายความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศอื่นด้วยต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา