เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2562 นาย Muhammadu Buhari ประธานาธิบดีของไนจีเรียได้ลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีแอฟริกา (The African Continental Free Trade Agreement – AfcFTA)
ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นําสมัยพิเศษสหภาพแอฟริกา ครั้งที่ 12 ที่กรุง Niamey สาธารณรัฐไนเจอร์ และจะดําเนินขั้นตอนภายในเพื่อให้สัตยาบันต่อความตกลงฉบับนี้ต่อไป
[su_spacer]
ทั้งนี้ สาเหตุของการที่ไนจีเรียไม่ได้ลงนามความตกลง AfcFTA เมื่อครั้งการประชุมสุดยอดผู้นําสมัยพิเศษ สหภาพแอฟริกา ครั้งที่ 10 ที่กรุงคิกาลี รวันดา เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เพราะกังวลว่าภายหลังจากที่ความตกลงบังคับใช้ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีกว่า อาทิ แอฟริกาใต้ หรือกานา จะทำการทุ่มสินค้าราคาถูกเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายกระตุ้นการพัฒนาผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และลดทอนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้ภาคเอกชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเข้าร่วม AfcFTA ไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
[su_spacer]
จากสถานการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดี Buhari ได้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบและผลดีผลเสียของการเข้าร่วมความตกลง AfcFTA ขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2561 (The Presidential Committee on the Impact and Readiness Assessment of AfcFTA) ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรม (Manufacturer Association of Nigeria – MAN) สหภาพแรงงาน (National Labour Congress – NLC) สภาหอการค้าลากอส (Lagos Chamber of Commerce – LCC) หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องมาหารือ โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 คณะกรรมการฯ ได้เสนอผลการศึกษาและแนะนําว่า ประธานาธิบดีควรลงนามเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าว จากนั้น ขั้นตอนต่อไปจะต้องหารือและเจรจารายละเอียดของความตกลงฉบับนี้ ซึ่งนอกจากจะหารือเกี่ยวกับปัญหาที่ไนจีเรียเผชิญอยู่ อาทิ การลักลอบค้าขาย ตามแนวชายแดน การทุ่มตลาดสินค้าราคาถูก และปัญหาแหล่งกําเนิดสินค้า เป็นต้น แล้วก็ควรหารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของแอฟริกาในภาพรวมด้วย
[su_spacer]
ภายหลังที่ได้ลงนามความตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดี Buhari ได้กล่าวว่า การค้าเสรีควรจะเป็นการค้าที่ยุติธรรมด้วย ผู้นําแอฟริกาควรมุ่งสร้างงานและส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง โดยไนจีเรียเองก็จะสนับสนุนความตกลงและเข้าร่วมความตกลงอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Buhari ยังได้แสดงความยินดีต่อกานาที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสํานักงานเลขาธิการ AfcFTA
[su_spacer]
ในประเด็นการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว มีนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าไนจีเรียจะต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจของแอฟริกาในฐานะที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่ง และเป็นการยากที่เศรษฐกิจภูมิภาคจะขับเคลื่อนหากปราศจากความร่วมมือของไนจีเรีย ทั้งนี้ ไนจีเรียก็ได้สนับสนุนการรวมกลุ่มภูมิภาคมาตั้งแต่ต้น โดยไนจีเรียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม OAU ที่ลากอส รวมทั้งการจัดทํา Abuja Treaty 1991 ซึ่งได้วาง roadmap ของการรวมกลุ่มภูมิภาคและ AfcFTA ไว้ด้วยแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ไนจีเรียจะไม่ลงนามในความตกลงฉบับนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันแอฟริกามีการค้าระหว่างกันเพียงร้อยละ 15 จากสถิติในปี ค.ศ. 2017 มูลค่าการค้าของแอริกาใต้ แซมเบีย นามิเบีย และไนจีเรีย รวมกันประมาณร้อยละ 37 ของการค้าทั้งหมดในแอฟริกา
[su_spacer]
นอกจากนี้ ภาคเอกชนไนจีเรียยังแสดงความกังวลหากรัฐบาลจะเข้าร่วมใน AfcFTA เนื่องจากความอ่อนแอและความเสียเปรียบทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ซึ่งต้องพึ่งพาการนําเข้าถึงร้อยละ 90 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า และการจ่ายไฟฟ้า เครือข่ายถนน การลดต้นทุนการผลิตพลังงานและความสามารถในการแข่งขันด้านราคา การอํานวยความสะดวกด้านธุรกรรมการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ เรียกร้องให้การเจรจา AfcFTA พิจารณาเรื่องแหล่งกําเนิดสินค้า (Rules of Origins) ให้มีความชัดเจนและมีบทลงโทษ เนื่องจากไนจีเรียประสบปัญหาการลักลอบนําเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาก อาทิ ข้าว น้ำมันปาล์ม ขณะที่เบนินก็ได้ลงนามในความตกลงดังกล่าวในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยประธานาธิบดี Patrice Talon ซึ่งเบนินหวังว่าความตกลงฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศแอฟริกาด้วยกันอย่างจริงจัง และทุกประเทศจะต้องได้รับ ประโยชน์ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังคงเหลือเพียงเอริเทรียเป็นประเทศเดียวที่ยังมิได้ลงนามความตกลง
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา