อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่ได้สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาทในปี 2560 โดยผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้คุณภาพของคำว่า “Made in Thailand” หลากหลายประเภทได้ถูกส่งออกไปยังทุกภูมิภาคบนโลกใบนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศนิวซีแลนด์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทางการนิวซีแลนด์ได้เพิ่มความเข้มงวดกับการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องด้วยต้องการยกระดับความมั่นคงทางชีวภาพของประเทศและลดความเสี่ยงจากศัตรูพืช สัตว์ และโรคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงประกาศจัดตั้ง 4 หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐาน (Ministry for Primary Industries) ได้แก่ (1) หน่วยความมั่นคงทางชีวภาพ (2) หน่วยประมง (3) หน่วยความมั่นคงทางอาหาร และ (4) หน่วยป่าไม้ [su_spacer size=”20″]
หลังจากการตั้งหน่วยงานและการออกนโยบายที่เข้มงวดของนิวซีแลนด์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เกิดเหตุการณ์สินค้าอาหารไทยบางชนิดถูกทางการนิวซีแลนด์ตีกลับและถูกทำลายทิ้ง เนื่องจากสินค้าชนิดนั้นไม่ผ่านมาตรฐานการนำเข้าอาหารของนิวซีแลนด์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องสูญเสียโอกาสการค้าที่สำคัญไป ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าอาหารไปสู่ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการผลิตให้มีความสะอาด ความปลอดภัย รวมถึงศึกษาขั้นตอนการส่งออกอาหารไปสู่ประเทศนิวซีแลนด์อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีหลักสำคัญ 6 ประการ ดังนี้ [su_spacer size=”20″]
- ลงทะเบียน [su_spacer size=”20″]
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ส่งออกสินค้าอาหารมายังประเทศนิวซีแลนด์ ผู้ประกอบการไทยต้องลงทะเบียนเพื่อส่งออกอาหารด้วยตนเอง หรือใช้บริการผู้ประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก (นายหน้า) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการนิวซีแลนด์ไว้แล้ว โดยนายหน้าต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งออกอาหารด้วยตนเองและนายหน้าต้องกรอกเอกสารสมัครสำหรับลูกค้ากับศุลกากรของประเทศนิวซีแลนด์ในชื่อ TRADE SINGLE WINDOW (TSW) ให้เรียบร้อย และผู้ลงทะเบียนกับศุลกากรฯ ต้องต่ออายุการลงทะเบียนรวมทั้งปรับปรุงรายละเอียดช่องทางการติดต่อกลับให้เป็นปัจจุบันเสมอ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องการใช้บริการจากนายหน้า สามารถตรวจสอบรายชื่อนายหน้าได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานที่ https://www.mpi.govt.nz/ [su_spacer size=”20″]
- ตรวจสอบการอนุญาตการนำเข้าและการจำหน่ายอาหาร [su_spacer size=”20″]
อาหารบางอย่างที่มีส่วนผสมของพืชหรือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น งาช้าง ไขปลาวาฬ สมุนไพรจีนบางชนิดที่หาได้ยากในปัจจุบัน เป็นต้น รวมถึงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อม พืชพันธุ์ และสัตว์หรือประชาชนของประเทศนิวซีแลนด์ เช่น อาหารที่สามารถนำเชื้อหรือสิ่งมีชีวิตจากภายนอกประเทศเข้าสู่ประเทศนิวซีแลนด์ได้ ไม่ว่าสินค้านั้นจะอยู่ในรูปแบบอาหารสด อาหารแห้ง อาหารแปรรูป หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร จะถูกพิจารณาเป็นสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ผู้ประกอบการและนายหน้าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังประเทศนิวซีแลนด์ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตรวจสอบการอนุญาตการนำเข้าและการจำหน่ายอาหารจากบัญชีรายชื่อสินค้านำเข้าต้องห้ามจากทางเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน [su_spacer size=”20″]
- ตรวจสอบกฎและหลักฐานที่จำเป็นและเกี่ยวข้องอื่น ๆ [su_spacer size=”20″]
สำหรับการเตรียมเอกสารเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ผู้ประกอบการต้องมีหนังสือรับรองความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับพืชและสัตว์ เช่น หนังสือรับรองการจัดการกับแมลงและเมล็ดตกค้างในผักและผลไม้ เป็นต้น และอาจต้องมีหนังสือรับรองความปลอดภัยทางอาหารสำหรับสุขภาพของประชาชนนิวซีแลนด์ด้วย ทั้งนี้ ระเบียบการตรวจสอบได้แสดงไว้ในมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการนำเข้า (Import Health Standards – IHS) ตามปรากฏในเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน [su_spacer size=”20″]
- หาแหล่งอาหารที่เหมาะสม [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าอาหารที่จะส่งออกมานั้นมีความปลอดภัยและเหมาะสม โดยต้องมีใบรับรองที่แสดงว่าธุรกิจนั้นปฏิบัติตามโครงการความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศนั้น ๆ มีการพิสูจน์ว่าได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหาร มีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงคุณภาพทางเคมี ทางกายภาพ และทางจุลชีววิทยา และมีฉลากสินค้าที่แสดงรายการส่วนประกอบอาหารซึ่งต้องพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ [su_spacer size=”20″]
- เก็บอาหารให้ปลอดภัยและเหมาะสม [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดูแลการเก็บรักษาอาหารให้ปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในชั้นแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น จึงต้องเก็บอาหารไว้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมและมีการควบคุมอุณหภูมิอย่างถูกต้อง เก็บอาหารให้พ้นจากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด เก็บอาหารให้ห่างจากผลิตภัณฑ์อื่นที่อาจทำให้อาหารปนเปื้อน นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ของอาหารต้องมีความสะอาดและปลอดภัย และหากใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่าตู้ได้รับการทำความสะอาดแล้ว โดยผู้ประกอบการอาจขอข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทขนส่ง หรือไปเยี่ยมชมบริษัทขนส่งนั้นเพื่อตรวจสอบด้วยตัวเอง [su_spacer size=”20″]
- จัดเก็บบันทึกและระเบียนสินค้า [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า และแหล่งที่จำหน่ายสินค้าของตนเองในประเทศนิวซีแลนด์ โดยสามารถเลือกวางระบบเพื่อจดบันทึกระเบียนสินค้าเอง หรือว่าจ้างบุคคลอื่นให้ดำเนินการให้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบระบบที่ติดตั้งไว้ตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบจะสามารถรายงานข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ การผลิตอาหารในประเภทใด ๆ ก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลมาตรฐานและความปลอดภัยไว้อย่างรัดกุมแล้ว แต่หากผู้ประกอบการไทยสร้างกระบวนการผลิตและกระบวนการควบคุมให้สูงกว่ามาตรฐานโดยทั่วไป เช่น คำนึงถึงความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิต มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในทัศนคติของผู้บริโภคได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นตัวเลือกในลำดับต้น ๆ เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน