การดําเนินมาตรการปิดพรมแดนอย่างเข้มงวดเพื่อจัดการสถานการณ์ COVID-19 ในนิวซีแลนด์ โดยไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติรวมถึงนักเรียน/นักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้านิวซีแลนด์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการศึกษาของนิวซีแลนด์มากที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และน่าจะเรียกได้ว่า ขณะนี้ภาคการศึกษานานาชาติของนิวซีแลนด์อยู่ในสภาพเปราะบางจากการสูญเสียรายได้จํานวนมหาศาลจากนักเรียน/นักศึกษาต่างชาติทั้งจากค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และค่าใช้สอยทั่วไป ในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 จํานวนนักเรียน/นักศึกษาต่างชาติที่ลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษาทุกระดับมีจํานวน 115,713 คน จาก 180 ประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่นิวซีแลนด์กว่า 5.23 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์/ปี คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของ GDP ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากที่สุดเป็นอับดับที่ 5 ของภาคการส่งออกนิวซีแลนด์รองจาก (1) นมผง เนย และชีส (2) การท่องเที่ยว (3) เนื้อสัตว์ และ (4) ป่าไม้
.
ผลกระทบที่สําคัญ
.
(1) จํานวนนักเรียน/นักศึกษาต่างชาติลดลงจํานวนมาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์พิจารณาอนุมัติวีซ่าประเภทนักเรียนประมาณ 8,000 – 12,000 คนต่อปี อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าว ลดลงเหลือ 882 คน (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 90.65) ล่าสุด ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ประกาศงดพิจารณาวีซ่า ประเภทชั่วคราว รวมถึงนักเรียน/นักศึกษาต่างชาติ ไปจนถึง พ.ค. 2564 ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า มีความเป็น ไปได้ที่จํานวนนักเรียน/นักศึกษาจะลดลงต่อเนื่องต่อไปอีกตลอดปี 2564 จนกว่า นิวซีแลนด์จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการพรมแดนเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อยร้อยละ 70 – 80 ของประชากรทั้งหมดในนิวซีแลนด์
.
(2) สถาบันการศึกษาสูญเสียรายได้มหาศาล ในปี 2563 สถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง (ไม่รวมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ อีก 15 แห่ง) เสียรายได้ไปแล้ว กว่า 200 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ทั้งนี้ ก่อนสถานการณ์ COVID-19 สำนักงานสถิตินิวซีแลนด์ตั้งเป้าว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมการศึกษานานาชาติจะสร้างผลกําไรให้แก่นิวซีแลนด์กว่า 155 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ นอกจากนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่าตัวเลข การเสียรายได้ดังกล่าวจะพุ่งไปที่ 400 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ภายในสิ้นปี 2564 หากรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้านิวซีแลนด์
.
(3) อันดับโลกของมหาวิทยาลัยใน นช. จะร่วงลง เนื่องจากปริมาณและคุณภาพงานวิจัย ที่ลดลงจากมาตรการลดจํานวนบุคลากรทางการศึกษาที่เกิดขึ้นทั่ว นช. ซึ่งสมาคมมหาวิทยาลัย นช. ได้ออกมา เรียกร้องให้ รบ.นซ. ช่วยสนับสนุนทุนวิจัย (Marsden research grants) แก่นักวิจัย/บุคลากรทางการศึกษาเพื่อ ลดภาระด้านการเงินของมหาวิทยาลัยและรักษาปริมาณพร้อมคุณภาพของงานวิจัยใน นซ. ต่อไป รวมทั้งขอให้ รบ.นซ. ทบทวนนโยบายสนับสนุนการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในระยะยาวด้วย เพื่อรักษาคุณภาพและอันดับโลก ของมหาวิทยาลัยในนซ. ทั้งนี้ ปัจจุบัน University of Auckland ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดใน นช. ได้รับการจัดอันดับจาก Time Higher Education ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของ โลกอันดับที่ 147 จากมหาวิทยาลัยทั่วโลกทั้งหมด 1,527 แห่ง
.
(4) สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด สมาคมมหาวิทยาลัยนิวซีแลนด์ ออกมาแนะนําให้มหาวิทยาลัยปรับตัวและปรับแผนการดําเนินธุรกิจ อาทิ ลดแผนการก่อสร้างอาคาร ปรับสัญญา จ้างงานระยะยาวเป็นสัญญาชั่วคราว ลดจํานวนชั่วโมงทํางาน จัดทําข้อเสนอเกษียณอายุโดยสมัครใจ ฯลฯ พร้อม ระบุว่า หากสถาบันการศึกษาไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้จะต้องประสบภาวะวิกฤติในระยะยาว
.
มาตรการที่สําคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการศึกษานิวซีแลนด์
.
นอกจากนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายดูแลสวัสดิภาพของนักเรียนต่างชาติ มาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว ในช่วง lockdown จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติทั้งด้านการศึกษาและการเงิน เช่น (1) การให้บริการดูแลรักษาแก่นักเรียนต่างชาติ กรณีป่วยด้วย COVID-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (2) การจัดตั้งกองทุน 1 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติ ในการชดเชยรายได้กรณีว่างงานจากการทํางาน part-time โดยสามารถยื่นใบสมัครขอรับเงินช่วยเหลือได้จากสถาบันการศึกษาคนละ 1,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (3) การจัดหาคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนออนไลน์ และ (4) การกําหนดให้ฝ่ายต่างประเทศของแต่ละสถาบันการศึกษาประสานงานและดูแลนักเรียน/นักศึกษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จํานวนไม่เกิน 250 คน ซึ่งถือวีซ่านักเรียนของนิวซีแลนด์ที่ยังไม่หมดอายุและตกค้างอยู่นอกนิวซีแลนด์อสามารถเดินทางเข้านิวซีแลนด์ได้ตั้งแต่ เดือน พ.ย. เป็นต้นไป โดยรับผิดชอค่าใช้จ่ายในการกักตัวด้วยตนเอง และล่าสุดเมื่อวัที่ 14 ม.ค. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธรณสุขออกแถลงการณ์อนุญาตให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวสามารถเดินทางเข้านิวซีแลนด์ได้เพิ่มเติมอีก 1,000 คน โดยให้มีผลตั้งแต่ เม.ย. 2564 เป็นต้นไป
.
เมื่อ ก.ค. 2563 รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศแผนฟื้นฟูภาคการศึกษานานาชาติระยะยาว โดยใช้งบประมาณ 51.6 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ เพื่อลดผลกระทบและพยุงภาคการศึกษานานาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างผลประโยชน์ให้แก่นักเรียน/นักศึกษาต่างชาติ และสถาบันการศึกษานิวซีแลนด์ โดยจะจัดสรรงบประมาณที่สําคัญ ได้แก่ (1) 20 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ สําหรับสนับสนุนการจ้างผู้เชี่ยวชาญ/บุคลากรทางการศึกษาจากต่างประเทศ รวมทั้งสําหรับการช่วยเหลือนักเรียน/นักศึกษานานาชาติที่ตกค้างในนิวซีแลนด์ และประสงค์จะรับความช่วยเหลือ (2) 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์สําหรับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องปิดตัวลงเกือบทั้งหมด และ (3) 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์สําหรับการสร้าง platform การเรียนออนไลน์จากต่างประเทศ
.
ผลกระทบที่สําคัญต่อนักเรียน/นักศึกษาไทยในนิวซีแลนด์
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ได้จัดเที่ยวบินพิเศษและเที่ยวบินถึงพาณิชย์รวม 10 เที่ยวบิน จนถึง ธ.ค. 2563 เพื่อส่งชาวไทยเดินทางกลับประเทศไทยรวมแล้วประมาณ 1,200 คน ซึ่งในจํานวนดังกล่าว เกือบครึ่งเป็นนักเรียน/ นักศึกษา และส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ครอบครัว ไม่มั่นใจในสถานการณ์ COVID-19 ในอนาคต จึงประสงค์ให้บุตร/หลานเดินทางกลับและศึกษาต่อในประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักเรียน นักศึกษาไทยได้รับอนุมัติการพิจารณาการตรวจลงตรา ประมาณ 2,000 – 3,000 คน และในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 429 คน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 79.27
.
นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก รวมทั้ง นิวซีแลนด์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แม้สถาบันการศึกษาทั่วนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาจะออกมาย้ําว่า นักเรียน/นักศึกษาต่างชาติเป็นแหล่งรายได้ที่จะทําให้อุตสาหกรรมการศึกษานิวซีแลนด์อยู่รอดต่อไป และเรียกร้องให้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ผ่อนคลายมาตรการพรมแดน รวมทั้งเสนอทางออกต่าง ๆ เช่น (1) เสนอให้นักศึกษาจากบางประเทศสามารถเดินทางเข้านิวซีแลนด์ (2) เสนอให้นักศึกษาต่างชาติแสดงผลตรวจสุขภาพที่ปลอด COVID-19 ก่อนเข้านิวซีแลนด์และ (3) เสนอ ให้นักศึกษาเข้ารับการกักตัว 14 วันที่มหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่ รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังคงแสดงจุดยืนชัดเจนในการคงมาตรการชายแดนที่เข้มข้นของนิวซีแลนด์ต่อไป
.
รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังเชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและ การจัดการสถานการณ์ COVID-19 ของนิวซีแลนด์ที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้นิวซีแลนด์มีสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัย ต่อนักศึกษาต่างชาติในระยะยาว และจะยังคงเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายปลายทางด้านการศึกษาชั้นนําของโลก ทั้งนี้ ในปี 2562 The Economist Intelligence Unit (EIU) จัดอันดับให้นิวซีแลนด์เป็นผู้นําอันดับ 1 ด้านการศึกษาของโลก โดยระบุว่านิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมด้านการวิจัยและการพัฒนาทางการศึกษาดีที่สุดในโลกจากตัวชี้วัด 16 ประการ ซึ่งครอบคลุมนโยบายด้านการศึกษา ระบบการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อม และสภาพแวดล้อมทาง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
.
ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาอุตสาหกรรมการศึกษาของนิวซีแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านการวิจัยและการพัฒนาทางการศึกษา เพื่อนำมาปรับใช้กับการศึกษาของไทย หรือนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน