เม็กซิโกได้กลายเป็นแหล่งลงทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแส Nearshoring และเม็กซิโกยังเป็นประเทศผู้รับ FDI รายใหญ่อันดับที่ 9 ของโลก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ได้มีการประกาศโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านดอลล์ลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 38 (จากช่วงเดียวกันของปี 2565) โดยมีการคาดการณ์ว่า กระแส Nearshoring จะทำให้ GDP ของเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.5 ในอีก 6 ปี ข้างหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ FDI ที่จะสูงขึ้นถึง 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สถานการณ์ FDI ในเม็กซิโกในช่วง 6 เดือนของปี 2566 เพิ่มขึ้น 5.6% จากปี 2565 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐฯ (43%) สเปน (15%) เยอรมนี (9%) นอกจากนี้ ปัจจุบันมีบริษัทแคนาดาที่ลงทุนในเม็กซิโกประมาณ 3,100 แห่ง และมีบริษัทกว่า 200 แห่งจากแคนาดาแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย
โดยร้อยละ 60 ของ FDI ตั้งอยู่ใน 5 รัฐของเม็กซิโก ได้แก่ Mexico City (35%) Nuevo Leon (10%) Baja California (5%) และ Mexican State (5%) โดยเฉพาะรัฐ Nuevo Leon ทางตอนเหนือของเม็กซิโก ซึ่งปัจจุบันได้เป็นรัฐที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติมากกว่า 4,000 บริษัทในสาขาต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม (57%) อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์การขนส่ง เครื่องดื่มและยาสูบ เคมีภัณฑ์ อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร และคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ การเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Gigafactory ของบริษัท TESLA ในเมืองมอนเตร์เรย์ รัฐ Nuevo Leon เมื่อต้นปี 2566 ยังสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตของ Nearshoring ในเม็กซิโก ขณะเดียวกัน บริษัท Lingong Machinery Group ของจีนก็มีแผนที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรัฐ Nuevo Leon เพื่อลงทุนในสาขาการผลิต คลังสินค้า โลจิสติกส์ และการให้บริการสนับสนุนธุรกิจ อีกด้วย
‘Nearshoring ทำให้ความต้องการของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว’ โดยสมาคมสวนอุตสาหกรรมเอกชนแห่งเม็กซิโก (AMPIP) คาดว่า Nearshoring จะสร้างความต้องการใช้พื้นที่อุตสาหกรรม 2.5 ล้านตารางเมตรในช่วงปี 2566-67 เพิ่มขึ้นเกือบ 80% จากปี 2565 ในขณะเดียวกัน Nearshoring ยังจะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในมอนเตร์เรย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการเติบโตที่รวดเร็วของ Nearshoring รวมถึงสนามบินในเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น Tijuana Ciudad Juarez และ Monterrey อาจพบปัญหาการจราจรของผู้โดยสารที่คับคั่ง เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ตั้งศูนย์กลางการผลิตอยู่บริเวณใกล้กับสนามบิน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเดินทางเพื่อธุรกิจและการขนส่งสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือว่ามีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งเสริมในภาคการบิน
ล่าสุด เมื่อเดือน ตุลาคม 2566 เม็กซิโกได้ประกาศใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี เพื่อดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนโดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีตั้งแต่ร้อยละ 56 – 89 สำหรับการลงทุนในช่วงปี 2566-67 ใน 10 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ (โดยเฉพาะ EV) อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย ยา อุตสาหกรรมเกษตร อุปกรณ์การแพทย์และเภสัชกรรม และการถ่ายทำภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังสามารถหักภาษีได้เพิ่มเติมร้อยละ 25 เป็นเวลา 3 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน
อย่างไรก็ดี เม็กซิโกยังคงเผชิญกับสิ่งท้าทายที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและดึงดูดการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ อาทิ การขาดแคลนแงงานที่มีทักษะในบางสาขา การปรับปรุงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาอาญากรรม ความปลอดภัย และการทุจริตคอร์รัปั่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
➤ ผลกระทบของ Nearshoring ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ EV ของเม็กซิโก
ปัจจุบัน เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 7 ของโลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 4.8 ของ GDP โดยขณะนี้ มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในเม็กซิโกมากมาย ได้แก่ Audi, BMW, Ford Motor Company, General Motors, Honda, Hyundai, Jac by Giant Motors, Kia, Mazda, Mercedes Benz, Nissan, Stellantis, Toyota, Volswagen, และล่าสุด Tesla
สำหรับการผลิตรถยนต์ EV รัฐบาลเม็กซิโกมีความต้องการเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นครึ่งหนึ่งของรถยนต์ทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศภายในปี 2573
นอกเหนือจากโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ของ Tesla ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 นั้น คาดว่าเม็กซิโกจะสามารถผลิตรถยนต์ EV ได้ปีละ 1-2 ล้านคัน และยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่มีแผนจะผลิตรถยนต์ EV ในเม็กซิโกเช่นเดียวกัน รวมทั้ง ยังมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนเพื่อเป็น Suppliers ให้กับ Tesla และบริษัทผลิตรถยนต์ EV บางบริษัทเริ่มวางแผนในการผลิตแบตเตอร์รี่รถยนต์ EV ด้วยแล้ว เนื่องจากเม็กซิโก มีแร่ Lithium สำรองใต้พื้นผิวโลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง ที่จะสามารถใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตฯรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น รัฐบาลเม็กซิโกจึงได้ Nationalize แหล่งแร่ lithium เพื่อส่งเสริมให้เม็กซิโกเป็น Hub ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในสาขาดังกล่าว
ทั้งนี้ ทางสหรัฐฯ มีการตั้งเป้าหมายที่จะให้รถยนต์ EV คิดเป็นครึ่งหนึ่งของรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 เหมือนเม็กซิโก โดยให้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 7,500 ดอลล์ลาร์สหรัฐ สำหรับการซื้อรถยนต์ EV คันใหม่ ซึ่งจะทำให้ช่วยเพิ่มความต้องการสั่งซื้อรถยนต์ EV ที่ผลิตในเม็กซิโกด้วย
บทสรุป จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ น่าจะส่งเสริมให้เม็กซิโกกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญในภูมิภาคลาตินอเมริกาในอนาคต
กรณีศึกษาจาก Nearshoring ในเม็กซิโก นับว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยหากมีการศึกษาตลาดยานยนต์ในเม็กซิโกอย่างจริงจัง โดยตระหนักถึงสิทธิประโยน์ที่จะได้รับจากความตกลง USMCA และมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ของรัฐบาลเม็กซิโกและสหรัฐฯ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์