ภายใต้สภาวการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เม็กซิโกได้กลายเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากกระแสของ “Nearshoring” โดยมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2566 ด้วยมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งค่าเงินเปโซ ของเม็กซิโกแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 7 ปี จึงทำให้เม็กซิโกได้กลับมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของสหรัฐอีกครั้ง !
ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์นับว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเม็กซิโกที่ติดกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐฯ อีกทั้งเม็กซิโกยังมีปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ อาทิ ข้อตกลง USMCA ซึ่งทำให้เม็กซิโกมีความได้เปรียบในการเข้าถึงตลาดในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เม็กซิโกยังมีความตกลงการค้าเสรีกับ 50 ประเทศทั่วโลก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตลอดจนการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอสมควร ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกที่มีส่วนเกื้อหนุนเม็กซิโก เช่น กรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่สงครามการค้า ตามด้วยการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดกระแส “Nearshoring” ด้วยความต้องการลดและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน เป็นเหตุในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเม็กซิโกอีกด้วย นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ Nearshoring ส่วนมากมาจากการลงทุนโดยบริษัทสหรัฐฯ ตามมาด้วยสเปน อาร์เจนตินา และเนเธอร์แลนด์
ในปี พ.ศ.2566 การประกาศการลงทุนโดยส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การขนส่ง การพาณิชย์ และเหมืองแร่ โดยเป็นการลงทุนจากสหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา เยอรมนี ไต้หวัน แคนาดา และเบลเยี่ยม ตามลำดับ
รายงานหลายฉบับระบุว่า ภายในปี พ.ศ.2573 Nearshoring จะทำให้ FDI ในเม็กซิโกมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึงปีละประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังสร้างงานเพิ่มขึ้น 2-4 ล้านตำแหน่ง รวมทั้ง GDP ของเม็กซิโกยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 อีกด้วย
นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนของบริษัทเอเชียในเม็กซิโก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในเม็กซิโกเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของบริษัทเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 40) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร และเครื่องใช้ในครัวเรือน
ถึงแม้ว่า Nearshoring จะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในเม็กซิโก แต่อย่างไรก็ตามเม็กซิโกอาจยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่จากกระแสดังกล่าว เนื่องจากยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่
- 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น โดยเม็กซิโกยังประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่อุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภค เม็กซิโกยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศและกับประเทศในภูมิภาค
- 2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแรงงาน โดยเม็กซิโกจำเป็นต้องพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ “เศรษฐกิจฐานความรู้” และรองรับการลงทุนต่างชาติในสาขาที่มีแนวโน้มจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขายานยนต์ EV การบินและอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การแพทย์
- 3) ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและอาชญากรรม โดยเม็กซิโกยังต้องแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานกำกับดูแล การโจรกรรม และการขู่กรรโชก การจ่ายค่าคุ้มรองให้กับองค์กรอาชญากรรม
ในการประชุม North American Leader’s Summit ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2566 ที่กรุงเม็กซิโก ผู้นำของประเทศเม็กซิโก สหรัฐฯ และแคนาดา เห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจร่วมกัน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาคอเมริกาเหนือ ขับเคลื่อนนวัตกรรม และส่งเสริม Nearshoring เพื่อดึงดูดการลงทุน ลดการนำเข้าจากประเทศในเอเชียลงร้อยละ 25 โดยใช้ข้อตกลง USMCA ในการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งสามประเทศดังกล่าวมีการเห็นชอบในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะ Semiconductor และ แบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตยานพาหนะขนาดเล็ก การบินและอวกาศ และอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้ง SMEs นวัตกรรมและการวิจัย การพัฒนาที่นั่งยืน โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างมาตรฐานสินค้าเดียวกัน การแก้ปัญหาอาชญากรรม และการส่งเสริมหลักนิติธรรม
นอกจากนี้ BYD ของจีนยังได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่จะจำหน่ายในเม็กซิโก และล่าสุดเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.2566 บริษัท Tesla ได้ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (gigafactory) ในรัฐ Nuevo Leon, Mexico ซึ่งมีพรมแดนติดกับ Texas, USA การลงทุนดังกล่าวนั้น กระตุ้นความคาดหวังว่า เม็กซิโกจะได้รับประโยชน์จาก Nearshoring มากขึ้น โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์