ปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เมียนมาเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่น่าเข้าไปลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนับตั้งแต่เมียนมาเปิดประเทศสู่สากลเมื่อปี 2555 รัฐบาลเมียนมาได้พัฒนากฎหมายเพื่อจัดระเบียบและส่งเสริมการลงทุนในเมียนมาถึง 3 ฉบับ (1) กฎหมายการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Law – MIL) รับผิดชอบโดยคณะกรรมการควบคุมการลงทุน (Myanmar Investment Commission – MIC) (2) กฎหมายบริษัทเมียนมา (Myanmar Companies Law) รับผิดชอบโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการบริหารจัดการของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration – DICA) และ (3) กฎหมายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone Law) รับผิดชอบโดยคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ [su_spacer size=”20″]
คณะกรรมการทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำงานแยกกันอย่างชัดเจนเพื่อส่งเสริมประเภทอุตสาหกรรมในแต่ละด้าน กล่าวคือ กฎหมาย MIL จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ MIC กำหนด อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน สารนิเทศ โลจิสติกส์ พลังงาน และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบมากต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่กฎหมายบริษัทเมียนมา จะควบคุมการลงทุนการจัดตั้งบริษัทในเมียนมา ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติและบริษัทของเมียนมาโดยตรง และกฎหมายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะดูแลเขตเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีเขตเศรษฐกิจที่รัฐบาลเมียนมาจัดไว้ 3 แห่ง นั่นคือ Thilawa SEZ, Dawei SEZ และ Kyauk Phyu SEZ [su_spacer size=”20″]
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเมียนมาก็เข้าไปมีบทบาทในการค้าและการลงทุนในเมียนมามาก เห็นได้จากสถิติเดือนกันยายน 2561 ของ DICA ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในเมียนมามากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสิงคโปร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งทางการลงทุนโดยรวมถึงร้อยละ 14.29 [su_spacer size=”20″]
ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (Thai Business Association of Myanmar – TBAM) จัดกิจกรรมพานักลงทุนไทยเข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเศรษฐกิจของเมียนมา เพื่อรับฟังนโยบายและกฎระเบียบด้านโอกาสการค้าการลงทุนที่สำคัญ รวมถึงได้ทราบโอกาสการลงทุนที่เมียนมากำลังต้องการให้เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ [su_spacer size=”20″]
1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมียนมามีแผนแม่บทด้านถนนปี 2573 (Arterial Networks Master Plan 2030) เพื่อพัฒนาทางด่วน (Expressway) ถนนหลัก และถนนรองทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนและสะพาน (Road and Bridge Infrastructure Investment Plan) ปี 2573 เพื่อปรับปรุงถนนของเมียนมาให้ได้มาตรฐาน ASEAN Class III Standard โดยแผนการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่า 32.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีวิธีการดำเนินโครงการในหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย (1) การให้สัมปทาน (2) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) (3) ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและรัฐบาล (G2G) และ (4) รูปแบบผสมระหว่าง G2G และ PPP [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ โครงการที่รัฐบาลเมียนมากำลังประกาศรับการลงทุน ได้แก่ (1) เครือข่ายทางด่วน ประกอบด้วย ทางด่วน Yangon-Mandalay, Mandalay-Tigyaing-Muse, Tigyaing-Myitkyina-Kan Paik Ti และ Nay Pyi Taw-Kyaukphyu (2) ถนนภายในกรุงย่างกุ้ง และ (3) โครงการปรับปรุงทางหลวงใน GMS (GMS Highway Modernization Projects) ประกอบด้วย Yangon-Pathein, Bago-Thanlyin, Yangon-Mandalay และ Bago-Kyaikto [su_spacer size=”20″]
2.การค้าปลีกและการขายส่ง ในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาได้ออกประกาศที่ 25/2018 เพื่อเชิญชวนให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและการขายส่งในประเทศมากขึ้น โดยอนุญาตให้บริษัทต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 100 หรือร่วมทุนกับชาวเมียนมาเพื่อประกอบกิจการได้ และรายการสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกและการขายส่ง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค (รวมถึงเสื้อผ้า นาฬิกา และเครื่องสำอาง) สินค้าอาหาร (รวมถึงสินค้าเกษตร สินค้าประมง สินค้าจากสัตว์ อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ และสุราที่ผลิตในท้องถิ่น) สินค้าใช้ในบ้าน สินค้าใช้ในครัว ยา อุปกรณ์การแพทย์ และอุปกรณ์โรงพยาบาล อาหารสัตว์และยาสำหรับสัตว์ เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องกีฬา เครื่องมือสื่อสาร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง สินค้าไฟฟ้า เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม เมล็ดพันธุ์และวัสดุทางการเกษตร เครื่องจักรในฟาร์ม รถจักรยานประเภทต่าง ๆ รถจักรยานยนต์และเครื่องจักรหนัก ของเล่นเด็ก ของที่ระลึกและหัตกรรมประเภทต่าง ๆ และงานศิลปะ เครื่องดนตรี เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและการขายส่งสามารถยื่นจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา โดยต้องมีเอกสารประกอบการจดทะเบียน ได้แก่ (1) ใบรับรองการจดทะเบียน (2) สำเนาใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา และ (3) หนังสือรับรองจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองหรือคณะกรรมการพัฒนาเขตของรัฐ [su_spacer size=”20″]
3.การลงทุนในสาขาไฟฟ้าและพลังงาน จากการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมในประเทศส่งผลให้เมียนมาต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลเมียนมาจึงวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 25 ล้านกิโลวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมที่พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจาก พลังงานน้ำมากถึงประมาณร้อยละ 60-70 โดยเมียนมามีแผนดำเนินโครงการด้านพลังงาน 26 โครงการ ประกอบด้วยพลังงานความร้อน 14 โครงการ พลังงานน้ำ 9 โครงการ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการ โดยรัฐบาลวางแผนจะให้สัมปทานแก่เอกชนมากถึงร้อยละ 80 [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในสาขาต่าง ๆ ของเมียนมาสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น หน่วยงาน DICA ที่เว็บไซต์ www.dica.gov.mm/en เป็นต้น นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการไทยต้องการคำแนะนำเชิงลึกรวมถึงคำแนะนำเมื่อประสบอุปสรรคปัญหาในการลงทุนในเมียนมา สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ที่เว็บไซต์ www.thaiembassy.org/yangon/ ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย [su_spacer size=”20″]