ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมียนมามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายด้านนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2559 โดยในด้านเศรษฐกิจ มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน อาทิ นโยบายเศรษฐกิจ 12 ประการ ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง รวมทั้งกฎหมายส่งเสริมการลงทุนใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) กฎหมายการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Law) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560 โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแตกต่างกันไปตามระดับการพัฒนาของพื้นที่ และ (2) กฎหมายบริษัทเมียนมา (Myanmar Companies Law) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 ซึ่งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นได้ร้อยละ 35 และอำนวยความสะดวกการจัดตั้งบริษัทโดยจัดทำระบบจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Myanmar Companies Online (MyCo) เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาบริษัทท้องถิ่น นอกจากนี้ รัฐบาลยังอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย [su_spacer size=”20″]
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พัฒนาการในเชิงบวกดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนโดยปัจจุบัน การลงทุนของต่างชาติในเมียนมามีมูลค่าถึง 76.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาเชื้อเพลิง พลังงาน ภาคการผลิต การขนส่งและโทรคมนาคม โดยชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน สิงคโปร์ และไทยตามลำดับ นอกจากนี้ สัดส่วนการค้าต่อ GDP ของเมียนมาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2556 และจากสหรัฐฯ ในปี 2559 รวมทั้งการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกเพื่อลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ มีการอนุญาตให้บริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุนระหว่างชาวเมียนมากับชาวต่างชาติสามารถดำเนินการค้าขายสินค้าที่ผลิตในเมียนมา หรือนำเข้าจากต่างประเทศ จากเดิมที่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติดำเนินการค้าขายสินค้าเพียงไม่กี่รายการ[su_spacer size=”20″]
จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าว รัฐบาลเมียนมาจึงเตรียมที่จะให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย (1) การปฏิรูปเศรษฐกิจ ผ่านการริเริ่มแผนการพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน (Myanmar Sustainable Development Plan) รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นในปี 2561 (2) การลงทุน นาย Thaung Tun ผู้บริหารคนใหม่ของ Myanmar Investment Commission (MIC) ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการลงทุน โดยการส่งเสริมการลงทุนในสาขาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเกษตร ปศุสัตว์ การประมง การศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ การผลิตสินค้าในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า อุตสาหกรรมการส่งออก และการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่ (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลเมียนมาร่วมกับ Asian Development Bank และ Japan International Cooperation Agency จะดำเนินการปรับปรุงคุณภาพทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เมืองและชนบท พัฒนาระบบไฟฟ้า โครงการพลังงานน้ำและโครงการแสงอาทิตย์ เพิ่มจำนวนสายส่งด้านพลังงานเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงไฟฟ้าภายในปี 2573 รวมถึงเตรียมพร้อมการเปิดประมูลการสำรวจก๊าซบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งรอบใหม่ภายในสิ้นปี 2561 และ (4) การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนโรงแรม ยกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กำหนดมาตรการออก Visa on Arrival ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบขนส่งคมนาคมระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต [su_spacer size=”20″]
ทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาลเมียนมาต่อจากนี้จึงน่าจะเป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลเร่งผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยแม้ว่าเมียนมายังคงต้องเผชิญประเด็นท้าทายต่าง ๆ เช่น การปฏิรูปเป็นไปอย่างล่าช้า ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ปัญหาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงข้อกังวลในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เมียนมาก็ยังมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 6-7 ภายในสองปีนี้ จึงถือว่าเมียนมามีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลักที่คาดว่ารัฐบาลเมียนมาจะให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง