เขตการค้าชายแดนเมียวดี (Myawaddy Trade Zone) แจ้งระงับการนําเข้าสินค้าบริโภค 4 ประเภท ผ่านทางชายแดนเป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย (1) สินค้าเครื่องดื่มทุกประเภท (2) สินค้าเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของกาแฟและชา (Coffee Mix and Tea Mix) (3) สินค้ากาแฟสําเร็จรูป (Instant Coffee) และ (4) นมข้นหวานและนมข้นจืด โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สินค้าข้างต้นสามารถนําเข้าผ่านทางท่าเรือแทนได้ นอกจากนี้ สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) ยังระบุว่า เขตการค้าชายแดนอื่น ๆ ในเมียนมาจํานวน ๑๑ แห่ง ยังได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน
.
สำหรับข้อมูลสถิติการค้าชายแดน/ข้ามแดนระหว่างไทยกับเมียนมา ณ ด่านศุลกากรแม่สอด พบว่า สินค้าประเภทเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นสินค้าส่งออกสําคัญลําดับต้น ๆ โดยในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563 – มี.ค. 2564) มีมูลค่าการส่งออกสินค้าข้างต้นกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งประกาศดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าผ่านทางชายแดนจากไทยไปเมียนมา ประกอบกับการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยด่านศุลกากรแม่สอด-เมียวดี เป็นจุดผ่านแดนของสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมาที่มีปริมาณมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของการค้าข้ามแดนไทย-เมียนมา มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยผ่านทางด่านดังกล่าวในเดือน ก.พ. 2564 ลดลงจากเดือน ม.ค. 2564 กว่าร้อยละ 23.42 และในเดือน มี.ค. 2564 ลดลงอีกกว่าร้อยละ 14.05 นอกจากนี้ หากจะเปลี่ยนเป็นการขนส่งสินค้าผ่านทางเรือก็อาจจะมีต้นทุนและอาจจะไม่ใช่วิธีการขนส่งที่สอดคล้องกับปริมาณของสินค้าที่มีการสั่งซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องจําหน่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น จึงอาจประเมินได้ว่าผู้ประกอบการที่ส่งสินค้า 4 ประเภทดังกล่าวจะไม่มีความคุ้มค่าทางธุรกิจ
.
จากข่าวข้างต้น สังเกตได้ว่าเมียนมามีแนวโน้มดําเนินนโยบายการค้าแบบคุ้มกัน (protective trade policy) มากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตและส่งเสริมธุรกิจ MSMEs ภายในประเทศ ซึ่งสามารถผลิตสินค้าในกลุ่มดังกล่าวได้เองโดยโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายของเมียนมา นอกจากนี้ เมื่อปี 2562 รัฐบาลในขณะนั้น ได้ออกกฎหมายเพื่อป้องกันปริมาณการนําเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Law to Prevent an Increased Quantity of Imports) มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและจํากัดปริมาณการนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ซ้ำซ้อนกับสินค้าที่สามารถผลิตได้ภายในประเทษและในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาได้ออกประกาศห้ามนําเข้าสินค้าประเภทเบียร์และบุหรี่ ส่วนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สามารถนําเข้าได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อน และอนุญาตให้นําเข้าผ่านทางท่าเรือและท่าอากาศยานย่างกุ้งเท่านั้น
.
อย่างไรก็ตาม การระงับการนำเข้าสินค้า 4 ประเภทของเมียนมา ได้ปรากฏข้อวิพากษ์วิจารณ์ในอีกทางหนึ่งว่า สินค้าทั้ง 4 ประเภทที่สามารถผลิตได้ในเมียนมาส่วนใหญ่ ดําเนินการโดยกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ยี่ห้อ (1) Dagon Beverages (2) Myanmar Brewery และ (3) Mandalay Brewery กาแฟสําเร็จรูปยี่ห้อ Nan Myaing Coffee ชาสําเร็จรูปยี่ห้อ Shwe Phe Oo Teamix นมข้นหวานและนมข้นจืดยี่ห้อ (1) Milky (2) Seven7 (3) Moon และ (4) Sun เป็นต้น จึงมีข้อสันนิษฐานได้ด้วยว่า มาตรการดังกล่าวอาจออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอดและไม่มีคู่แข่ง
.
จากข่าวข้างต้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามและวิเคราะห์ข่าวเกี่ยวกับการระงับสินค้าที่จะทำการส่งออกสู่เมียนมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา พร้อมทั้ง หาแนวทางการส่งออกที่จะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว และอาจค้นหาข้อมูลสินค้าที่เมียนมาได้เคยระงับไปในครั้งก่อน ๆ เพื่อเตรียมหาช่องทางการปรับเปลี่ยนการส่งออกสินค้าดังกล่าวในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง