เมื่อ 26 พฤษภาคม 2563 รัฐสภาเมียนมาได้อนุมัติให้กฎหมายเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone Law) มีผลบังคับใช้ โดยก่อนหน้านี้ เมียนมาไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องเขตอุตสาหกรรม ปัจจุบัน กระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม เมียนมา กำหนดให้มีพื้นที่ 29 แห่ง เป็นเขตอุตสาหกรรมกระจายไปตามภาคและรัฐต่าง ๆ ได้แก่ ภาคมัณฑะเลย์ 3 แห่ง ภาคย่างกุ้ง 10 แห่ง ภาคอิระวดี 3 แห่ง ภาคมะก่วยและรัฐมอญที่ละ 2 แห่ง ภาคพะโค ภาคตะนาวศรี ภาคสะกาย รัฐชิน รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐยะไข่ รัฐคะยา และกรุงเนปิดอ ที่ละ 1 แห่งนอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนร่วมจากภาคเอกชน เช่น โครงการ Yangon Amata Smart & Eco City โครงการเมืองอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกรมการพัฒนาเมืองและการเคหะ กระทรวงก่อสร้างเมียนมากับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
.
ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในเขตอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) การผลิตผลิตภัณฑ์ (finished products) และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการบรรจุสินค้า (2) การคมนาคม การขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงถนน (3) การบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต และ (4) การค้าภายในและระหว่างประเทศ โดยสัดส่วนของเขตอุตสาหกรรม ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม ร้อยละ 60-70 พื้นที่การค้าร้อยละ 1-5 สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 20-25 และพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 9-10
.
ผู้ลงทุนจะต้องยื่นคำร้องไปที่ Regional Industrial Zones Development and Management Committee (“Regional Committee”) ซึ่งจะส่งเรื่องให้ Industries and Industrial Zone Development Central Committee (“Central Committee”) (กฎหมายกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ทั้ง ๒ ชุดนี้) พิจารณาอนุมัติ
.
โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิยกเว้นการชำระภาษีเงินได้ระยะเวลา 3 หรือ 5 หรือ 7 ปี ขึ้นอยู่กับการพัฒนาในพื้นที่ และได้สิทธิในการถือครองที่ดินเป็นระยะเวลา ๕๐ ปี และสามารถต่ออายุการถือครองได้ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑๐ ปี ทั้งนี้ Central Committee จะออกประกาศเพื่อให้สิทธิประโยชน์พิเศษ (Special Incentives) แก่การลงทุน ดังนี้ (1) อุตสาหกรรมในเขตที่มีการพัฒนาต่ำ(2) การลงทุนที่สร้างงานสร้างอาชีพเป็นจำนวนมาก (3) การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและสินค้าปฐมภูมิ (4) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตร และ (5) การเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกและสินค้าที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
.
หากผู้ลงทุนที่ได้ถือครองที่ดินแล้วยังไม่ดำเนินการใด ๆ จะต้องยื่นแผนธุรกิจ (Business Plan) ภายใน ๒ ปี และหากผู้ลงทุนไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนธุรกิจ Regional Committee จะพิจารณาขอคืนพื้นที่ร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้กับนักลงทุนรายอื่น
.
กฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงการดำเนินการของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและมีความโปร่งใส เช่นเดียวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน (Myanmar Sustainable Development Plan-MSDP) และการบรรลุเป้าหมายที่ 3 ของ MSDP การสร้างงานและการที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ แผนปฏิบัติการ 3.3.7 พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตอุตสาหกรรมบนพื้นฐานการวางแผนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งคำนึงผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาชุมชน
.
สำหรับโอกาสที่นักธุรกิจไทยควรจับตามองคือ การเข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมของเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อรองรับการพัฒนาการค้าและการลงทุนข้ามชายแดน ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมลอยกอ รัฐคะยา (ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เขตเศรษฐกิจเมียวดีและเขตอุตสาหกรรมพะอัน รัฐกะเหรี่ยง (ตรงข้าม) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตอุตสาหกรรมเมาะลำไย และโครงการ Southern Myanmar Development (SMD) รัฐมอญ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภาคตะนาวศรี (ตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี) และเขตอุตสาหกรรมมะริด ภาคตะนาวศรี (ตรงข้ามจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) การพัฒนาธุรกิจคมนาคมและโลจิสติกส์ ตลอดจนการกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ
.
สถาณเอกอัครราชทูต ณ ย่างกุ้ง