เมียนมาได้อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินบาทกับสกุลเงินจั๊ต ณ บริเวณชายแดนไทย–เมียนมา เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกัน ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar: CBM) ได้อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินหยวนกับจั๊ตสำหรับกิจการการค้าชายแดนระหว่างจีนกับเมียนมา และได้ขยายการอนุญาตให้ครอบคลุมถึงการชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินบาทกับจั๊ตด้วยในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญเนื่องจากไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 2 ของเมียนมารองจากจีน
หลังจากนี้รัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างวางแผนที่จะอนุญาตให้มีการใช้สกุลเงินรูปีของอินเดียกับสกุลเงินจั๊ตโดยตรงในลักษณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดนเมียนมา-อินเดียต่อไป การอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนเงินโดยตรงโดยที่ไม่ต้องผ่านสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Non – US dollar direct currency settlement for border trade) นั้น จะช่วยส่งเสริมให้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมากับประเทศ เพื่อนบ้านขยายตัว อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันอีกด้วย
การชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินบาท-จั๊ต ได้อนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยธนาคารกลางเมียนมาจะอนุญาตให้มีการเริ่มชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล จากเดิมที่พึ่งพาการใช้เงินสดเป็นหลัก ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา พบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 ไทยกับเมียนมามีมูลค่าการค้าชายแดนทั้งสิ้น 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมียนมาดำเนินการค้าชายแดนกับไทยผ่านช่องทางจุดผ่านแดนทางบก 7 แห่ง ได้แก่ (1) ท่าขี้เหล็ก (2) เมียวดี (3) เกาะสอง (4) มะริด (5) ทิกิ (6) มอต่อง และ (7) มิซี โดยด่านการค้าชายแดนเมียวดีเป็นด่านชายแดนที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด รองลงมาคือ ด่านทิกิ
การค้าระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของเมียนมา การชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นโดยไม่ต้องผ่านสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น จะช่วยให้ เศรษฐกิจระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้น อำนวยความสะดวกการค้าทวิภาคี การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งจะช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังลดปัญหาอัตราเงินเฟ้อในเมียนมาที่สูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินสดภายในประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและขยายตัวตามเป้าหมายในอนาคต
ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมายาวที่สุดกว่า 2,416 กิโลเมตร รวมไปถึงมีจุดผ่านแดนทางบกถึง 7 จุดในการค้าขายข้ามพรมแดน ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยไปเมียนมา รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบราคาถูกจากเมียนมาเพื่อนำมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยต่อไปในอนาคตได้
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์