การเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม’ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก นับตั้งแต่ขั้นตอนของการสร้างฟาร์ม ซึ่งต้องมีการถางเปิดหน้าดินเป็นวงกว้างเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อก่อสร้างโรงเรือนและปลูกหญ้าซึ่งใช้เป็นอาหารหลักของปศุสัตว์ ส่งผลให้ต้องตัดต้นไม้และแผ้วถางพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก เป็นการทำลายแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน ทั้งนี้ จากผลสำรวจขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เมื่อปี 2565 พบว่า ก๊าซมีเทนถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกถึง 580 ล้านเมตริกตัน แบ่งเป็นการปล่อยก๊าซจากแหล่งธรรมชาติ 40% และจากกิจกรรมของมนุษย์ 60% โดยการทำเกษตรกรรมปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด
ด้วยความเชื่อว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมและมีกระบวนการผลิตที่ไร้มนุษยธรรม เมื่อกลางปี 2564 ‘คุณชนะพล ตัณฑโกศล’ หรือ หว้า ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไทย ‘MUU’ ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนมโดยที่ไม่ต้องใช้วัวในการผลิต ด้วยเห็นว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และยังไม่มีขายในท้องตลาดมากนักจึงยังมีโอกาสอีกมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์นมทางเลือกมากขึ้น เช่น นมจากพืช แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นิยมบริโภคนมวัวในเรื่องของรสชาติและรสสัมผัสได้ดีพอ
MUU ใช้เทคโนโลยีระดับชีวโมเลกุล สังเคราะห์โปรตีนหลักในนมวัวมี 2 ชนิด ได้แก่ โปรตีนเคซีน และโปรตีนเวย์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ให้รสชาติและรสสัมผัสที่นุ่มนวลของนม โดยสังเคราะห์ชุดลำดับ DNA ของเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตโปรตีนนมของแม่วัวและนำปใส่ในเซลจุลินทรีย์ก่อนนำไปผ่านกระบวนการหมัก (fermentation) นอุณหภูมิที่เหมาะสม ควบคุมความเป็นกรด-ด่าง จนได้ผลผลิตเป็นโปรตีนนมในรูปแบบผง และเติมส่วนประกอบ ได้แก่ ไขมัน น้ำตาล และน้ำเปล่า จนได้เป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีรสชาติและรสสัมผัสเหมือนนมวัว นอกจากนี้ โปรตีนนมดังกล่าวยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ เช่น ชีส โยเกิร์ต และไอศกรีม ได้อีกด้วย
สามารถอ่านบทความ MUU นมวัวที่ไม่ได้มาจากฟาร์มปศุสัตว์! เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแนวใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ฉบับเต็มได้ที่ : https://globthailand.com/InterEcon/InterEcon19/#page=1 (หน้า 25 )