เมื่อ 18 ตุลาคม 2565 สหภาพยุโรป (อียู) และโมร็อกโกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สีเขียวฉบับแรก (EU-Morocco Green Partnership) ที่กรุงราบัต โดยมีนาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้แทนลงนามกับนาย Nasser Bourita รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของโมร็อกโก เพื่อพัฒนาความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ สภาพภูมิอากาศและพลังงาน สิ่งแวดล้อม (รวมถึงเรื่องทางทะเลและการเดินเรือ) และเศรษฐกิจสีเขียว
โมร็อกโกเป็นประเทศพันธมิตรแรกที่อียูจัดทําหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สีเขียวภายใต้นโยบาย European Green Deal โดยทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำโดยการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิตที่ยั่งยืน และแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
โดยที่โมร็อกโกมีศักยภาพการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูง และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สําคัญไปยังอียู เช่น ผัก ผลไม้และพืชน้ำมัน โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังอียูในปี ค.ศ. 2021 มูลค่ากว่า 2.62 พันล้านยูโร ประกอบกับโมร็อกโกเป็นผู้นําด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแอฟริกา จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สีเขียวระหว่างอียูกับโมร็อกโก
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สีเขียวฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมการหารือเชิงนโยบาย และการสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรม โครงการต่าง ๆ ด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม โดยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2565 อียูได้อนุมัติงบประมาณ 115 พันล้านยูโรสําหรับโครงการ “Terre Verte” เป็นโครงการแรก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงนิเวศวิทยา การมีส่วนร่วม และนวัตกรรมของ ภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ของโมร็อกโก ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ “Green Generation และ “Moroccan Forests” ของโมร็อกโกสําหรับช่วงปี ค.ศ. 2020-2030
นอกจากนี้ ความตกลงฉบับนี้ยังเป็นการเพิ่มพลวัตรความสัมพันธ์ของภูมิภาคยุโรปและแอฟริกาให้ แน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นต้นแบบสําหรับความร่วมมือ ระหว่างอียูและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นโอกาสพัฒนาความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Cooperation) กับผู้ที่มีบทบาทระหว่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความมุ่งมั่นในการบรรลุ เป้าหมายในข้อตกลงปารีส และร่วมกันผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์