หากกล่าวถึงประเทศ “เม็กซิโก” หลาย ๆ คนคงมีภาพในความทรงจำที่จำกัด เนื่องจากประเทศนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากไทย แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ไทยและเม็กซิโกกำลังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากเม็กซิโกและไทยต่างก็กำลังแสวงหาหนทางในการเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน อย่างต่อเนื่อง[su_spacer size=”20″]
“เม็กซิโก” หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “สหรัฐเม็กซิโก (United Mexican States)” เป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือที่มีทิศเหนือติดกับสหรัฐอเมริกา และทิศใต้ติดกับประเทศกัวเตมาลาและประเทศเบลีซ ส่วนทางด้านทิศตะวันออกติดกับอ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียน และทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวแคลิฟอร์เนีย เม็กซิโกมีพื้นที่เกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรจำนวน 130.3 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น แบ่งเป็น 31 รัฐ และ 1 เขตนครหลวง ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ในปี 2559 เม็กซิโกมีขนาดเศรษฐกิจของประเทศมูลค่า 1.047 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงเศรษฐกิจของเม็กซิโกโดยแยกส่วนจะพบว่า เม็กซิโกพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเพียง ร้อยละ 3.9 (สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าวโพด ธัญพืช ถั่วเหลือง ข้าว ผลไม้ ฝ้าย กาแฟ มะเขือเทศ ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม) ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 31.6 (สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ เคมี เหล็ก ปิโตรเลียมและเหมืองแร่) และภาคบริการ ร้อยละ 64 (การค้า โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว) การพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมและการบริการเป็นหลักจึงทำให้เม็กซิโกมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก[su_spacer size=”20″]
จากการลงพื้นที่ศึกษาลู่ทางด้านเศรษฐกิจของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ในกิจกรรมที่จัดโดยรัฐบาลเม็กซิโกร่วมกับคณะ ASEAN Committee in Mexico City (ACMC) พบว่า ในปัจจุบัน รัฐมิโชอากัง (Michoacán) กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการก่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ โดยรัฐบาลกำลังพัฒนาท่าเรือ Lázaro Cárdenas (LC) และระบบขนส่งโดยรอบ ซึ่งหากการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าได้เป็นอย่างมาก โดยขั้นตอนศุลกากรที่ท่าเรือ LC จะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 20 นาที และการขนส่งทางรถไฟจาก LC ไปยังเมืองซันอันโตนิโอ เมืองลาเรโดและเมืองฮิวส์ตัน ในรัฐเทกซัสของสหรัฐอเมริกา จะใกล้กว่าการขนส่งจากท่าเรือ Long Beach ของสหรัฐอเมริกา 592 กิโลเมตร 758 กิโลเมตร และ 375 กิโลเมตร ตามลำดับ[su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ รัฐบาลเม็กซิโกยังต้องการผู้ร่วมทุนจากเอเชียเป็นอย่างมาก เพื่อร่วมลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ LC ที่มีพื้นที่ขนาด 8,483 เฮกเตอร์ (ประมาณ 53,020 ไร่) โดยรัฐฯ จะมอบสิทธิประโยชน์พิเศษด้านการเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนในเขต LC ด้วย ซึ่งได้แก่ การยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ในช่วง 10 ปีแรก และร้อยละ 50 ในอีก 5 ปีถัดมา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ one-stop shop เพื่อให้บริการขอรับใบอนุญาตการก่อสร้าง การนำเข้าวัตถุดิบโดยไม่เสียภาษี การตรวจลงตราสำหรับผู้บริหาร ทั้งนี้ ประเภทอุตสาหกรรมที่รัฐสนใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษประกอบด้วย ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก อุตสาหกรรมเคมี พลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์) อากาศยาน เหล็ก การแปรรูปอาหาร เครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังเม็กซิโกและทวีปอเมริกาโดยรวม[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก