เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ได้จัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง Nearshoring Investment: Sharing Thailand’s and Mexico’s Experiences แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมไปถึงโอกาสการค้าการลงทุนและความท้าทายในการดึงดูดการลงทุน nearshoring โดยมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
หัวข้อ “Nearshoring: Promises, Premises and Prospects” บรรยายโดย ดร. Juan Carlos Moreno-Brid อ ภาควิชาเศรษฐศาสตร National Autonomous University of Mexico (UNAM)
นอกจากผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทําให้เกิดการชะงักของ supply chain และส่งผลให้สหรัฐฯ ลดการนําเข้าสินค้าจากจีนและหันไปนําเข้าจากประเทศอื่นที่รวมถึงเม็กซิโก ส่งผลให้ในปี 2566 เม็กซิโกได้กลายเป็นประเทศอันดับ 1 ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 14.63% ของการนําเข้าทั้งหมด จีนเป็นอันดับ 2 ที่ 13.15% ตามด้วยแคนาดาที่ 12.96% โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ายานยนต์ ทั้งนี้สหรัฐฯ ยังเป็นนักลงทุนที่สําคัญที่สุดของเม็กซิโก โดย FDI จากสหรัฐฯ คิดเป็น 42.6% ของ FDI ทั้งหมด อย่างไรก็ดี FDI จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสาขายานยนต์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้น 5 เท่าจาก 31.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 เพิ่มเป็น 151.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 2565 แต่ FDI จากจีนยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ที่ 0.8%
เม็กซิโกมีข้อได้เปรียบที่สําคัญ ได้แก่ ที่ตั้งที่มีชายแดนติดกับสหรัฐฯ ค่าแรงต่ํา แรงงานมีทักษะ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีระดับหนึ่ง แต่อุปสรรคสําคัญคือ ปัญหาคอร์รัปชันและอาชญากรรม โดยเม็กซิโกยังต้องพัฒนาในด้านทักษะแรงงาน การส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด น้ํา โครงสร้างพื้นฐาน การรักษาความปลอดภัย และหลักนิติธรรม ซึ่งหากรัฐบาลเม็กซิโกไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา nearshoring จะทําให้เกิดความเหลื่อมล้ําในการพัฒนา ทำให้รัฐทางตอนเหนือที่ติดกับสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์มากกว่าส่วนอื่น ๆ
ดร. Juan Carlos จึงมองว่าเม็กซิโกควรให้ความสําคัญกับการขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการเงิน การดําเนินนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ให้ความสําคัญต่อการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรม


หัวข้อ “Investment Nearshoring: Thailand’s Experience” บรรยายโดย น.ส. ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ อดีตเลขาธิการ BOI
การลงทุนต่างประเทศในไทยยังไม่ค่อยใช้คําว่า nearshoring เท่าไหร่นัก เนื่องจากไทยไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ เหมือนเม็กซิโก อีกทั้ง นักลงทุนต่างชาติไม่ได้ให้ความสําคัญต่อการย้ายการผลิตมาอยู่ใกล้ตลาดเท่านั้น แต่ยังพิจารณาในปัจจัยอื่น เช่น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีศักยภาพ เช่น ไทยและเวียดนาม
ทั้งนี้ FDI ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เพิ่มขึ้นในช่วง 2554-2565 แต่คงที่ในช่วงปี 2566 ในขณะที่ FDI ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลง 16% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาค greenfield investments เพิ่มขึ้นอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ จีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบันจีนเป็นนักลงทุนใหญ่ที่สุดของไทย (ตามด้วยสิงคโปร์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและไต้หวัน) โดยเฉพาะในสาขายานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิตัล และพลังงานสะอาด ที่ผ่านมาไทยมีนโยบายส่งเสริมภาคยานยนต์ โดยเฉพาะ EV ในปัจจุบันมีบริษัทผลิตรถยนต์มาลงทุนในไทยจำนวนมาก รวมทั้งจีน อย่างบริษัท BYD ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค
ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 66 ล้านคน และไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน มีความตกลง FTA กับหลายประเทศทั่วโลก มีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์กลางการผลิตที่สําคัญ โดยเฉพาะสาขายานยนต์
สาขาที่ดึงดูด FDI อาทิ สาขาที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy อาทิ พลังงานทดแทน ยานยนต์ โดยเฉพาะ EV อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล รวมทั้งการจัดตั้งสํานักงานประจําภูมิภาค ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญในไทยยังคงเป็นการลงทุนเพิ่มโดยบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศก่อนหน้านี้แล้ว มากกว่าจะเป็นการลงทุนโดยบริษัทรายใหม่
สาขาที่มีศักยภาพในการร่วมมือระหว่างไทย – เม็กซิโก
ถึงแม้ว่าเม็กซิโกยังจะต้องมีการแก้ปัญหาความท้าทายบางส่วนเพื่อใช้ประโยชน์จาก nearshoring อย่างเต็มที่ แต่ปัจจุบันเม็กซิโกได้กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนมากขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ติดกับสหรัฐฯ ขนาดของตลาดในประเทศที่ใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 130 ล้านคน การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีระดับหนึ่ง นอกจากนี้ การเป็นสมาชิกข้อตกลง United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) ทําให้เม็กซิโกมีข้อได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ รวมไปถึงมีความตกลง FTA กับ 50 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของเม็กซิโก โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ในเอเชีย และอันดับ 3 ในอาเซียน สาขาที่เม็กซิโกและไทยมีศักยภาพในการร่วมมือระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น ยานยนต์ EV พลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ เกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยปัจจุบัน เม็กซิโกอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ซึ่งสำหรับนักลงทุนไทย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการศึกษาข้อมูลและข้อได้เปรียบเพื่อแสวงหาลู่ทางการลงทุนต่อไป
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
