เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2562 นายเชา กอน เยว (Chow Kon Yeow) มุขมนตรีรัฐปีนังแถลงว่า กระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมาเลเซียได้อนุมัติการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (The Environmental Impact Assessment – EIA) ต่อโครงการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียม 3 เกาะนอกชายฝั่งตอนใต้ของเมืองจอร์จทาวน์ในรัฐปีนัง (Penang South Reclamation – PSR)แล้ว โดยโครงการ PSR มีพื้นที่รวมทั้งหมด 4,500 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 190 ล้านตารางฟุต ซึ่งในเกาะดังกล่าวจะมีการสร้างเขื่อน โรงงานไฟฟ้าสําหรับใช้ในเกาะ เขตอุตสาหกรรม สํานักงาน และเขตที่อยู่อาศัย
[su_spacer]
เกาะแรกที่จะเริ่มดําเนินการมีพื้นที่รวมทั้งหมด 2,300 เอเคอร์ ซึ่งจะใช้เวลาถมทะเลประมาณ 3 ปี และมีค่าถมทะเลประมาณ 60 ริงกิตต่อตารางฟุต โดยจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมคล้ายกับ The Bayan Lepas Free Industrial Zone ในขณะที่เกาะที่สองซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,400 เอเคอร์ จะเป็นพื้นที่สําหรับธุรกิจการเงิน การบริการธุรกิจต่าง ๆ และการท่องเที่ยว ส่วนเกาะที่สามซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งหมด 800 เอเคอร์ จะเป็นพื้นที่สําหรับอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบใหม่
[su_spacer]
ทั้งนี้ ผู้ดําเนินโครงการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 72 ประการ อาทิ การสร้างบ้านราคาถูกในเขต Bayan Lepas เพื่อชดเชยให้กับชาวประมงมากกว่า 900 คน ที่ได้รับผลกระทบการปลูกปะการังเทียมเพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเล และจัดหาทรายมาจากแหล่งที่เหมาะสมถูกต้อง เป็นต้น
[su_spacer]
SRS Consortium ซึ่งเป็นคู่สัญญาโครงการของรัฐบาลแถลงว่าจะเปิดการระดมทุนเพื่อการถมทะเลดังกล่าวในไตรมาสที่สามของปีนี้ โดยในการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะแรกนั้น SRS Consortium จะดําเนินการระดมทุนประมาณ 2 พันล้านริงกิต ส่วนเกาะที่สองและเกาะที่สามจะเริ่มสร้างเมื่อระดมทุนจากการขายที่ดินบนเกาะได้มากพอแล้ว โดยต้นทุนการก่อสร้างทั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 46,000 ล้านริงกิต และ SRS Consortium จะได้รับค่าดําเนินการเป็นเงิน 6% ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากโครงการต่าง ๆ บนเกาะทั้งสาม ทั้งหมดประมาณ 70,000 ล้านริงกิต ซึ่งเป็นจํานวนเงินที่เพียงพอสำหรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐปีนังในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยในจํานวนนี้รัฐปีนังจะนําเงินส่วนหนึ่งประมาณ 46,000 ล้านริงกิต ไปใช้ในโครงการของแผนหลักการขนส่งของรัฐ (Penang Transport Master Plan – PTMP) ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างรถไฟรางเบา (LRT) 9,000 ล้านริงกิต และการก่อสร้างทางด่วน Pan Island Link 1 (PIL 1) 9,600 ล้านริงกิต เป็นต้น
[su_spacer]
โดยรถไฟรางเบา (LRT) จะเริ่มจาก Komtar (อาคารรัฐบาลปีนัง และห้างสรรพสินค้า) ผ่านเขต Jelatong และ Gelugor เขต Bayan Lepas ท่าอากาศยานปีนังไปจนถึงเกาะเทียมที่กําลังจะสร้างขึ้น
[su_spacer]
ทั้งนี้ มีองค์กรเอกชนหลายแห่งได้แถลงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ อาทิ นาย Mohideen Abdul Kadir ประธานองค์กร Consumers Association of Penang (CAP) และ นาย Meenakshi Raman ประธานองค์กร Sahabat Alam Malaysia (SAM) เป็นต้น ซึ่งนาย Phee Boon Poh ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของรัฐปีนังได้ชี้แจงว่าทางรัฐบาลคํานึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมในทุกๆ โครงการที่ทําเสมอและเคารพความคิดเห็น รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะขององค์กรเอกชนต่าง ๆ มาโดยตลอด นอกจากนี้ นาย Zairi Khir Johari ประธานกรรมการโยธาของรัฐ กล่าวว่า มุขมนตรี เชา กอน เยว ได้ประกาศชัดเจนว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 72 ประการของโครงการ PSR ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ดําเนินโครงการจะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
[su_spacer]
ข้อสังเกตของโครงการ PSR คือ ถูกริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายลิม กวน เอง เมื่อครั้งยังดํารงตําแหน่งมุขมนตรีรัฐปีนัง โดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายพื้นที่อุตสาหกรรม ธุรกิจ และที่อยู่อาศัย และเป็นโครงการที่จะเป็นแหล่งรายได้ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและถนนหนทางในรัฐปีนังซึ่งนับวันยิ่งแออัดไปด้วยรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ นับว่าเป็นโครงการใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในขณะเดียวกันทางการปีนังก็ต้องคํานึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เข้มงวดของรัฐบาลกลาง ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ PSR จะใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 20 ปีในการก่อสร้าง
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง