ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มาเลเซียในไตรมาสที่ 4 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหดตัวร้อยละ 3.4 (ไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 2.6) ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.6 ถือว่าถดถอยที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยํากุ้งในปี 2541 แม้ว่าภาคการผลิตจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากยางพาราและพลาสติก ทําให้เฉลี่ยทั้งปีภาคการผลิตหดตัว เพียงร้อยละ 2.6 แต่ภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดใน GDP ของมาเลเซีย (ร้อยละ 57.8) ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากมาตรการของรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะการห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ และการห้ามการเดินทางข้ามรัฐ ทําให้ผลผลิตภาคบริการทั้งปีหดตัวร้อยละ 5.5 โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น อุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหาร โรงแรมที่พัก และบริการขนส่งต่าง ๆ ขณะที่ภาคการเกษตร (หดตัวร้อยละ 2.2) ก่อสร้าง (หดตัวร้อยละ 14.4 และเหมืองแร่ (หดตัวร้อยละ 10) ยังคงหดตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี
.
ในส่วนของรายจ่าย ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ล่าสุดมีการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 เป็นต้นมา และรายรับที่ลดลงส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศ (ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดในผลิตภัณฑ์มวลรวมของ หรือร้อยละ 58.6) หดตัวร้อยละ 4.3 แม้จะมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่การใช้จ่ายในส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อซื้อสินค้าจําเป็น แต่การใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการพักผ่อนยังคงหดตัว (ร้านอาหาร โรงแรม ตกแต่งบ้าน ท่องเที่ยว) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคง หดตัว แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี โดยหดตัวลดลงที่ร้อยละ 7 ในไตรมาสที่ 4 จากที่เคยติดลบร้อยละ 9.3 ใน ไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้การสะสมทุนถาวรในปี 2563 หดตัวร้อยละ 14.5 และมูลค่าการส่งออกสุทธิลดลงร้อยละ 12.3 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเป็นสาขาเดียวที่ยังคงขยายตัวในปี 2563 ที่ร้อยละ 4.9
.
การค้ากับต่างประเทศของมาเลเซียปี 2563
.
ในภาพรวม แม้มาเลเซียจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่มาเลเซียยังคงได้ดุลการค้ากับต่างประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 คิดเป็นมูลค่า 1.848 แสนล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 โดยมูลค่าการค้ารวม 1.8 ล้านล้านริงกิต (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 3.6) โดยการส่งออกของมาเลเซียปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงหลังของปี 2563
.
หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกในเดือน ธ.ค. มีมูลค่าสูงที่สุดในรอบปี โดยมีคู่ค้าสําคัญคือ จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกไปตลาดเกิดใหม่ เช่น คอสตาริกา คาซัคสถาน เคนยา ไนจีเรีย กานา โกตดิวัวร์ ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ
.
การส่งออกของมาเลเซียในปี 2563 มีมูลค่า 9.81 แสนล้านริงกิต ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 1.4 โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5) สิงคโปร์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7) สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7) สหภาพยุโรป (ลดลงร้อยละ 4.2) และฮ่องกง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2) ขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 ของมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 45,272 ล้านริงกิต ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 14.6 โดยมีสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2563 ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม และสินค้าเกษตร ขณะที่มูลค่าการส่งอออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอุปกรณ์ขนส่ง ปรับตัวลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของมาเลเซียปรับตัวลดลงจากปี 2562 ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกไปยังอาเซียนมีมูลค่าลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.7 คิดเป็นมูลค่า 2.72 แสนล้านริงกิต โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งในอาเซียนของมาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 52.1) ตามมาด้วยไทย (สัดส่วนร้อยละ 16.6) เวียดนาม และอินโดนีเซียโดยมีสินค้าส่งออกหลักคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 ในเดือน ธ.ค. 2563
.
การนําเข้าของมาเลเซียในปี 2563 มีมูลค่า 7.562 แสนล้านริงกิต ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 6.3 โดยเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 การนําเข้าในปี 2563 เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ซึ่งแหล่งนําเข้าสําคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของมาเลเซียและเป็นแหล่งนําเข้าอันดับ 3 ในอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย) โดยมีมูลค่าการนําเข้าจากประเทศไทย 34,148 ล้านริงกิต ลดลงจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 22.87 ขณะที่สินค้านําเข้าสําคัญ 5 อันดับแรกของมาเลเซีย ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์โลหะ (metal) ซึ่งเห็นได้ว่า ถึงแม้การนำเข้าสินค้าไทยของมาเลเซียจะมีมูลค่าลดลงในปี 2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ไทยยังคงถือเป็นประเทศที่มาเลเซียนำ
.
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยและมาเลเซียนั้นมีการส่งออกสินค้าประเภทที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล ที่ประเทศไทยนั้นมีความสามารถในการส่งออกเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการที่มาเลเซียประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าไทย ทำให้เกิดเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สามารถส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซียได้เพิ่มมากขึ้น หรือส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นแทนมาเลเซียที่สามารถส่งออกได้ลดลง อีกทั้งยังทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองราคามากขึ้นด้วย
.
ในการนี้ผู้ประกอบการไทยที่ได้ลงทุนในมาเลเซีย อาจมีการพิจารณากระจายความเสี่ยงโดยการเลือกลงทุนในหลากหลายประเทศมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมาเลเซียที่ถดถอย สืบเนื่องมาจากวิกฤต COVID-19 นั้นส่งผลไม่เพียงแต่กำลังการผลิตภายในประเทศที่ลดลง แต่ความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคยังลดลงอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์