เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 กรมปศุสัตว์มาเลเซียได้ประกาศระงับการนำเข้าโคกระบือมีชีวิตจากประเทศไทย เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ใน 41 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในทันที โดยการระงับการนำเข้าครั้งนี้เป็นการระงับเฉพาะการนำเข้าโคกระบือมีชีวิตเท่านั้น ไม่รวมการนำเข้าเนื้อโคและเนื้อกระบือชำแหละ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในมาเลเซีย โดยกรมปศุสัตว์มาเลเซียขอให้ผู้ประกอบการยกเลิกการนำเข้าจากประเทศไทย และแนะนำให้ปศุสัตว์ท้องถิ่นในแต่ละรัฐรีบแจ้งกรมปศุสัตว์หากมีโคกระบือเริ่มแสดงอาการของโรคลัมปี สกิน และเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าโคกระบือมีชีวิตจากประเทศไทย โดยเบื้องต้นกรมปศุสัตว์มาเลเซีย ขอความร่วมมือหน่วยงานด้านความมั่นคงชายแดน (AKSEM) ศุลกากรและสำนักงานกักกันพืชและสัตว์ (MAQIS) เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบนำเข้าบริเวณชายแดนไทย – มาเลเซีย
.
โรคลัมปี สกินเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบมากในโคกระบือแต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะและหว่างขา นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง
.
โดยตามระเบียบของมาเลเซีย โคและกระบือมีชีวิตนำเข้าจะต้องถูกกัก (Quarantine) ที่ด่านชายแดนก่อนจึงจะนำเข้ามาเลเซียได้ ซึ่งโดยปกติมาเลเซียนำเข้าเฉพาะโคกระบือมีชีวิตจากไทยเพื่อนำไปเชือดและตัดแต่งเอง ตามสถิติจาก Global Trade Atlas มูลค่าการส่งออกโคกระบือมีชีวิต ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – เมษายน 2564) มีมูลค่าสูงถึง 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 335.67 โดยคาดว่าเป็นผลมาจากก่อนหน้านี้ไม่มีรายงานการตรวจพบโรคระบาดในโคกระบือจากประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และเมียนมา ที่มีการระบาดของโรคลัมปี สกินมาตั้งแต่ปลายปี 2563 จึงส่งผลให้มีความต้องการโคกระบือจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
.
เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนว่า กรมปศุสัตว์มาเลเซียจะระงับการนำเข้าจากไทยเป็นเวลานานเท่าใด ทั้งนี้จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่มาเลเซียนำเข้าโคกระบือมีชีวิตจาก ประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากตรงกับช่วงเทศกาลอีดิล อัฎฮา (Eid al-Adha) ซึ่งเป็นเทศกาลที่เกี่ยวกับการฉลองหลังฮารีรายาหรือปีใหม่ 90 วัน โดยชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าการเชือดสัตว์เพื่อบริจาคเป็นทานให้แก่พี่น้องชาวมุสลิมเป็นการสร้างบุญสำคัญในศาสนาอิสลาม ซึ่งหากฝ่ายไทยยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาการระบาดของโรคฯ ได้ มาตรการนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกโคกระบือมีชีวิตจากไทยไปมาเลเซียเป็นอย่างมาก
.
ก่อนสถานการณ์โควิด-19 กรมปศุสัตว์ของไทยและกรมปศุสัตว์มาเลเซีย มีการพบปะหารือกันอย่างสม่ำเสมอภายใต้กรอบการประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาด้านปศุสัตว์ไทย – มาเลเซีย (Thailand – Malaysia Sub – Committee Meeting on Livestock Development) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีในการหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าปศุสัตว์ระหว่างกัน โดยล่าสุดเมื่อ 16 มกราคม 2563 ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมฯ ครั้งที่ 7 ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือทางด้านเทคนิค การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ มาตรการแนวทางการควบคุมป้องกันโรคระบาดในสัตว์ การกักกันสัตว์ การจัดการด้านการควบคุมตรวจสอบการ การเคลื่อนย้ายสัตว์ และขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ ทั้งนี้เบื้องต้น
.
ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกโคกระบือมีชีวิตไปยังต่างประเทศ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ต่าง ๆ ควรติดตามพัฒนาการกฎระเบียบ และการนำเข้าของประเทศมาเลเซียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดในมาเลเซียเป็นตลาดเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญและมีความสะดวกในการส่งสินค้าออกไปขายเป็นอย่างมาก
.
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์