เมื่อ 28 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรีประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการขยายมาตรการ FMCO (Full Movement Control Order) ที่เรียกว่า ‘National People’s Well-Being and Economic Recovery Package’ (PEMULIH) มูลค่า 1.5 แสนล้านริงกิต ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 8 ของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) สานต่อวาระสาธารณะ (2) ส่งเสริมภาคธุรกิจ (3) เร่งรัดโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติ
.
โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาตรการสำคัญได้แก่
.
1) อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 1 หมื่นล้านริงกิต โดยให้เงินอุดหนุนแก่บุคคลที่มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้ไม่มีงานทำ ลดค่าไฟฟ้า ให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME ผู้ประกอบการด้านกีฬา ศิลปะสร้างสรรค์ สถานพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุ และให้เงินอุดหนุนเงินเดือนแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่จำกัดฐานเงินเดือนขั้นต่ำของผู้มีสิทธิขอรับเงินสนับสนุนเช่นก่อนหน้านี้
.
2) พักการชำระหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ของผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งพักการชำระเงินกู้การศึกษาจากรัฐเป็นเวลา 6 เดือน พักชำระเบี้ยประกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐจนถึงธันวาคม 2564
.
(3) จัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมร้อยละ 130 ของประชากร เพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มเติม
.
(4) ผ่อนผันการชำระภาษีรายได้และยกเลิกภาษีท่องเที่ยวและบริหารสำหรับโรงแรมจนถึงสิ้นปี 2564 รวมทั้งควบคุมราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อป้องกันการขึ้นราคาสินค้า
.
ถึงอย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้มีการปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย โดยธนาคารโลกลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียเป็นครั้งที่สอง เหลือร้อยละ 4.5 จากเดิมที่ร้อยละ 6 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในมาเลเซียที่ยังรุนแรง และการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการขยายมาตรการ FMCO (total lockdown) ออกไปอีก 2 สัปดาห์ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์ของผู้บริโภคในมาเลเซีย อย่างไรก็ดี การส่งออกของมาเลเซียยังคงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ระยะเวลาและความเข้มงวดของมาตรการ FMCO (2) ประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการปัญหาโควิด-19 และ (3) ความสำเร็จของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แห่งชาติของมาเลเซีย
.
ในส่วนของประเทศไทยที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการนโยบาย Quasi-Lockdown ในเขตจังหวัดสีแดงที่มีผู้ติดเชื้อสูง เช่น กิจการก่อสร้าง กิจการร้านอาหาร เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรที่จะศึกษาและติดตามนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.malaymail.com/news/malaysia/2021/07/07/finance-minister-rm300000-under-food-basket-programme-for-each-mp-distribut/1988063