เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นับเป็นมาตรการชุดที่ 6 ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในมาเลเซีย และเป็นมาตรการชุดที่ 5 ของรัฐบาลปัจจุบัน (มาตรการที่ผ่านมามีมูลค่า รวม 3.05 แสนล้านริงกิต หรือประมาณร้อยละ 20 ของ GDP โดยมีงบประมาณจากรัฐบาลที่อัดฉีดเข้าระบบคิดเป็นมูลค่า 5.5 หมื่นล้านริงกิต) โดยมีประชาชนมาเลเซีย 20 ล้านคน และภาคธุรกิจอีกประมาณ 2.4 ล้านธุรกิจ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการที่ผ่านมา โดยมาตรการที่ทางการได้ประกาศออกมาเพื่อกระตุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม มีชื่อว่า มาตรการ “Perlindangan Ekonomi Dan Rakyat Malaysia (PERMAI)” มูลค่า 1.5 หมื่นล้านริงกิต เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยเน้น 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 (2) เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน และ (3) เพื่อให้ธุรกิจยังคงดําเนินต่อไปได้
.
โดยภาพรวมของมาตรการ PERMAI ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่เคยประกาศในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อนหน้าแต่ขยายเวลาดําเนินการเพิ่มเติม และเป็นมาตรการที่เคยประกาศไว้ภายใต้แผนงบประมาณปี 2564 โดยมีมาตรการ สําคัญ เช่น (1) การจัดสรรงบประมาณ 3 พันล้านริงกิต เพื่อใช้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ลงนามความตกลงจัดซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตแล้ว 3 ราย โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนชุดแรกได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 และจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชน 27 ล้านคน หรือร้อยละ 80 ของจํานวนประชากรทั้งหมดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ภายใน ไตรมาสแรกของปี 2565 (2) จัดสรรงบประมาณ 100 ล้านริงกิต เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนให้สามารถรองรับผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 (ทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยโรคอื่น) เพื่อบรรเทาภาระของโรงพยาบาลรัฐ (งบประมาณ 100 ล้านริงกิต) (3) การขยายเวลาการพักชําระหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ภาคธุรกิจ (ไม่ได้ให้โดยอัตโนมัติ ผู้ขอรับการพักชําระหนี้ ต้องติดต่อธนาคารเพื่อเจรจาเอง) (4) การให้เงินเยียวยาแก่ประชาชน/ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย/ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 (อาทิ มัคคุเทศก์ คนขับรถแท็กซี) (5) การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างแก่นายจ้าง โดยไม่จํากัดสาขาธุรกิจ (6) การให้เงินทุนให้เปล่าแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และผู้ค้าแผงลอย (7) การประกันเงินกู้โดยรัฐสําหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ (โครงการ Danajamin PRIHATIN Guarantee Scheme – SJPD) โดยเพิ่มวงเงินประกัน จาก 500 ล้านริงกิตเป็น 1,000 ล้านริงกิต เพิ่มระยะเวลาประกันเงินกู้สําหรับเงินทุนหมุนเวียนเป็นเวลา 10 ปี และอนุญาตให้บริษัทต่างชาติที่จ้างแรงงานมาเลเซียอย่างน้อยร้อยละ 75 สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ และ (8) ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย Temporary Measures for Reducing the Impact of COVID-19 Act 2020 ไปจนถึง 31 มีนาคม 2564 (จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563) โดยกฎหมายดังกล่าวเพิ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ 23 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวดเร็วและมี ประสิทธิภาพ โดยแหล่งเงินงบประมาณสําหรับมาตรการ PERMAI จะมาจากการโยกย้ายงบประมาณที่มีอยู่แล้วโดยพิจารณาตามความสําคัญของโครงการฯ เป็นหลัก
.
อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้มาตรการ PERMAI ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ การแบ่งสรรงบประมาณสําหรับแต่ละโครงการไม่มีความชัดเจน และมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับระยะเวลาในการประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางของประชาชน (Movement Control Order – MCO) ของรัฐบาล (ประมาณ 2 สัปดาห์) อีกทั้งยังมีความกังวลว่ามาตรการ PERMAI จะยิ่งเพิ่มภาระหนี้ให้รัฐบาลและส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังที่ต้องรับภาระ
.
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการ MCO ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่แตกต่างจากเมื่อปีที่แล้ว โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจน้อยกว่าครั้งก่อน เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้ภาคธุรกิจที่จําเป็นถึง 5 สาขา ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคบริการ ภาคการค้าและกระจายสินค้า และภาคการเพาะปลูกและสินค้าอุปโภค เปิดทําการได้ตามปกติ เพื่อไม่ให้ประชาชนขาดแคลนสินค้าจําเป็นและห่วงโซ่อุปทานไม่ได้รับผลกระทบ
.
รัฐบาลมาเลเซียได้ตระหนักถึงความห่วงกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 (มีผลใช้บังคับระหว่าง 11 มกราคม – 1 สิงหาคม 2564) ที่ผ่านมา และย้ำว่าเป็นการดําเนินการที่ไม่มีวัตถุประสงค์อื่นนอกจากเพื่อระงับการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากการยับยั้งการระบาดเป็นหัวใจสําคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการดําเนินการของรัฐบาล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจและกำลังตัดสินใจที่จะเข้าไปลงทุนในมาเลเซียควรติดตามความคืบหน้าในการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจมีประกาศออกมาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการ MCO ของรัฐบาลมาเลเซียซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์