(1) การต่อยอดผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่เส้นทางธุรกิจ
สำหรับคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาที่มีผลงานด้านวิจัยและนวัตกรรม แล้วจะผันตัวมาเป็น startup/spin-off (ร่วมกับเอกชนใหญ่ ๆ) หรือเข้าสู่เส้นทางธุรกิจนั้น อันดับแรกจะต้องรู้ตลาดที่สินค้าเราสามารถไปจำหน่ายได้ และหากสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ หรือกรรมวิธีที่ไม่เคยมีการประกอบธุรกิจมาก่อน ควรที่จะจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ทั้งนี้ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสามารถทำได้ใน 7 รูปแบบ เช่น ลิขสิทธิ์ (Copyright) ความลับทางการค้า (Trade Secret) สิทธิบัตร (Patent) อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) เครื่องหมายการค้า (Trademark) ฯลฯ ซึ่งการจดทะเบียนฯ จะขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้า/ผลิตภัณฑ์ รวมถึงกรรมวิธี ดังนั้น startup/spin-off จะต้องเข้าใจถึงองค์ประกอบของสินค้า/ผลิตภัณฑ์ และกรรมวิธีของตนเองอย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะทำให้ความคุ้มครองจากการจดทะเบียนฯ ในรูปแบบต่าง ๆ เหมาะสมกับสินค้า/ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อย่างแท้จริงและครอบคลุม อีกทั้งจะสามารถลดต้นทุนของธุรกิจ รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจได้ด้วย
(2) ช่องทางโปรโมทสินค้า/ผลิตภัณฑ์
แพลตฟอร์ม ‘Thaitrade.com’ ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สินค้า/ผลิตภัณฑ์ของทาง startup/spin-off ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ สามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Thaitradechina.com และยังเป็นตัวกลางในการเจรจาธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ (Online business matching) ด้วยเช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://science.mahidol.ac.th/news/nov66-17/
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์