1.1 การนําเข้าส่งออก Road Haulage Association (RHA) ให้ข้อมูลว่า ปริมาณสินค้าส่งออกจากท่าเรือสหราชอาณาจักรไปยัง EU ในช่วงเดือน ม.ค. 64 มีจํานวนลดลงมากถึงร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยจากความล่าช้าในกระบวนการผ่านแดนระหว่างสหราชอาณาจักร กับ EU ส่งผลให้สินค้าจากสหราชอาณาจักรบางรายการในตลาดของ EU ขาดแคลน รวมถึงบริษัทสหราชอาณาจักรบางรายได้ยกเลิกการส่งออกสินค้าไป EU ชั่วคราวหรือถาวรด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้มีนโยบายผ่อนคลายให้มีการนําเข้าสินค้าส่วนใหญ่จาก EU ได้ตามปกติจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 64 (grace period) ผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่ในภาคการส่งออกของสหราชอาณาจักรเป็นหลัก เนื่องจากฝ่าย EU ไม่มีนโยบายซึ่งต่างตอบแทนในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหราชอาณาจักรกําลังจะเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ในการนําเข้าสินค้าจาก EU รอบแรกในเดือน เม.ย. 64 สําหรับผลิตภัณฑ์ที่ทํามาจากสัตว์และพืชต่างๆ และรอบที่สองในเดือน ก.ค. 64 สําหรับรายการสินค้าที่เหลือเกือบทุกรายการ ซึ่ง RHA คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงซ้ําเติมให้แก่ภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักร โดยผู้บริโภคอาจต้องรับภาระจากต้นทุนของสินค้าที่เพิ่มขึ้นในที่สุด จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักร ทบทวนนโยบายการขยาย grace period ไปจนถึงสิ้นปีนี้ (ธ.ค. 64) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมพร้อมมากขึ้นและเพิ่มจํานวนเจ้าหน้าที่เพื่อให้คําปรึกษากับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพิธีการศุลกากรใหม่โดยเร็ว ทั้งนี้ นาย Dominic Raab รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหราชอาณาจักร มีความเห็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวว่า เป็นเพียงความขัดข้องในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาผลของ Brexit ในภาพกว้างสหราชอาณาจักรถือว่ามีสถานะและจุดยืนที่เข้มแข็งกว่าเดิมในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ทั่วโลก หากจะประเมินผลกระทบของ Brexit ต่อสหราชอาณาจักรอย่างสมดุล ต้องใช้การศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวมในรอบ 10 ปีจากนี้จึงจะเหมาะสมกว่าการดูปัญหาในระยะสั้น
.
1.2 ไอร์แลนด์เหนือ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏข่าวว่าทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร ร่วมกับนาง Arlene Foster ผู้นํารัฐบาลแคว้นไอร์แลนด์เหนือและหัวหน้าพรรค DUP ได้พยายามเจรจาหารือกับ EU เพื่อขอขยายช่วง grace period ในการบังคับใช้มาตรการตรวจสอบสินค้าที่นําเข้าจากสหราชอาณาจักร. (อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์) ไปยังไอร์แลนด์เหนือ ณ ท่าเรือของไอร์แลนด์เหนือ จาก 3 – 5 เดือน เป็น 2 ปี เพื่อลดผลกระทบต่อกระบวนการนําเข้าสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไอร์แลนด์เหนือประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้าอาหารสดจากสหราชอาณาจักรหลายรายการ นอกจากนี้ยังได้เกิดเหตุการณ์ข่มขู่เจ้าหน้าที่ประจําจุดตรวจสินค้าของ EU ในไอร์แลนด์เหนือ เนื่องจากไม่พอใจที่มีการตั้งจุดตรวจสินค้าจนฝ่าย EU ต้องประกาศปิดจุดตรวจชั่วคราวในช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้ การตั้งจุดตรวจสินค้าระหว่าง สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือถือเป็นการดําเนินการตามข้อกําหนดในพิธีสารไอร์แลนด์เหนือ ภายใต้ความตกลง UK-EU Withdrawal Agreement ที่มีผลให้ไอร์แลนด์เหนือยังคงอยู่ใน EU Single Market เฉพาะด้านสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งด่านตรวจสินค้าที่พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งล่าสุดฝ่าย EU ยังไม่มีท่าที่ต่อเรื่องดังกล่าว
.
ในขณะเดียวกันนาย Kevin Holland หนฝ่ายบริหารของ Invest N1 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการส่งออกและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในไอร์แลนด์เหนือเปิดเผยว่า ข้อกําหนด ดังกล่าวในพิธีสารไอร์แลนด์เหนือเสมือนเป็นการให้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดของทั้งสหราชอาณาจักร และ EU Single Market (dual market access) หากเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้แก่ ไอร์แลนด์เหนือโดยปริยาย โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายบริษัทจากนิวซีแลนด์ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ เวลส์ และ สกอตแลนด์) และประเทศ EU แสดงความสนใจในการเข้ามาทําธุรกิจในไอร์แลนด์เหนือจํานวนมาก
.
1.3 การเงิน นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (Bank of England – BoE) แสดงความกังวลว่า EU อาจกําลังพยายามตัดสหราชอาณาจักร ออกจากการเข้าถึงตลาดการเงินใน EU เนื่องจากทั้งสองฝ่ายซึ่งอยู่ ระหว่างการเจรจาการยอมรับกฎระเบียบการเงิน (equivalence) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้แม้ว่าใกล้จะครบกําหนดเวลาการเจรจาในเดือน มี.ค. 64 แล้วก็ตาม ทั้งนี้ภาคการเงินไม่ได้เป็นสาขาความร่วมมือที่ครอบคลุมในความตกลงการค้าสหราชอาณาจักร – EU ที่มีผลกําหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักร กับ EU หลัง Brexit ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 64 โดยภาค การเงินคิดเป็นร้อยละ 7 ของ GDP สหราชอาณาจักร และกว่าร้อยละ 40 เป็นธุรกรรมการเงินและการลงทุนของสหราชอาณาจักรใน EU ซึ่งในขณะที่ข้อมูลจาก CBOE Europe รายงานว่า กรุงลอนดอนได้สูญเสียตําแหน่งศูนย์กลางการซื้อขาย หลักทรัพย์ (share trading) ที่ใหญ่ที่สุดของ EU ให้แก่กรุงอัมสเตอร์ดัมในเดือน ม.ค. 64 โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ของเนเธอร์แลนด์ (Euronext Amsterdam) โดยเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านปอนด์ต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากเดือน ธ.ค. 63 และมีสัดส่วนตลาดมากเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 18.5) ในขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของ สอ. (London Stock Exchange) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่มูลค่า 7.5 พันล้านปอนด์ต่อวัน (มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 107.6) อย่างไรก็ดี นาย Bailey ให้ข้อมูลว่าในช่วงปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ย้ายตําแหน่งพนักงานออกจากจากกรุงลอนดอนเพียง 7,000 ตําแหน่งไปยังเมืองหลวงต่าง ๆ ของ EU ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่จํานวน 50,000 ตําแหน่ง และเชื่อว่ากรุงลอนดอนจะสามารถคงสถานะหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ ของโลกไว้ได้ต่อไปในระยะยาว
.
2. ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ของสหราชอาณาจักร
.
2.1 การค้าปลีก บริษัท ASOS ได้ทําข้อตกลงมูลค่า 295 ล้านปอนด์เพื่อซื้อกิจการ Topshop, Topman, Miss Selfridge และ HIT (ซื้อเฉพาะแบรนด์ไม่รวมร้านค้า) ซึ่งเป็นยี่ห้อหลักของ บริษัท Arcadia โดย ASOS มองว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะช่วยเร่งให้ ASOS กลายเป็นศูนย์กลางสินค้าแฟชั่นอันดับหนึ่งสําหรับกลุ่มลูกค้าที่มี อายุ 20 – 29 ปีทั่วโลก ล่าสุด บริษัทBoohoo ได้ทําข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการยี่ห้อ Dorothy Perkins, Wallis และ Burton ของ บริษัท Arcadia ในมูลค่า 252 ล้านปอนด์ด้วยแล้ว ทั้งนี้การซื้อกิจการข้างต้นที่ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า แนวโน้มตลาดแฟชั่นของสหราชอาณาจักรกำลังเปลี่ยนแปลงไปในช่องทางออนไลน์มากขึ้นและการเปิดร้านค้าจะมีจำนวนจํากัดลง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตทางด้านโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้อีก อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวด้วยว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักร อาจพิจารณา เรียกเก็บภาษีจากการขายสินค้าออนไลน์ (online sales tax) เพิ่มขึ้นเพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นในระยะต่อไป และเพื่อให้ภาคค้าปลีกแบบเดิมยังสามารถแข่งขันได้ ทําให้มูลค่าหุ้นของ บริษัท Boohoo ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.9 ในขณะที่ มูลค่าหุ้นของ บริษัท ASOS ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.9
.
2.2 อุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจัยจากการล็อกดาวน์ทําให้ยอดจําหน่ายรถยนต์ของสหราชอาณาจักร ในเดือน ม.ค. 64 ปรับตัวลดลงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ําที่สุดตั้งแต่ปี 2513 โดยสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของสหราชอาณาจักร (Society of Motor Manufacturers and Traders – SMMTD) รายงานว่า จํานวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 64 มี เพียง 40,000 คัน (เทียบกับจํานวน 144,000 คัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) ในจํานวนนี้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จํานวน 6,200 คัน และรถยนต์ hybrid จํานวน 5,000 คัน ทั้งนี้ SMMT มีความเห็นว่า หากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ขยายระยะเวลาการล็อกดาวน์ออกไปเกินกว่าต้นเดือน มี.ค. จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เนื่องจากเดือน มี.ค. เป็นเดือนที่มีการซื้อขายรถสูงที่สุดในรอบปี โดยมียอดขายโดยเฉลี่ยคิดเป็น 1 ใน 5 ของยอดขายทั้งปี ล่าสุด SMMT ได้ปรับการคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในปีนี้ลงมาอยู่ ที่จํานวนต่ํากว่า 1.5 ล้านคัน (จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่จํานวน 2 ล้านคัน)
.
3. ด้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร
.
3.1 เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 64 กระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ประกาศขยายระยะเวลาการพักชําระหนี้ภายใต้นโยบาย Pay as You Grow (PAYG) จาก 12 เดือนเป็น 18 เดือน โดยผู้ประกอบการสามารถขอชําระเงินงวดแรกหลังจากวันที่กู้ยืม แล้ว 18 เดือน นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาการผ่อนชําระหนี้จาก 5 ปี เป็น 10 ปี โดยผู้ประกอบการยังสามารถผ่อน ชําระดอกเบี้ยอย่างเดียวได้เป็นเวลา 5 เดือนด้วย ทั้งนี้ นาย Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ได้กล่าวว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักร มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักร ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19เป็นหลักต่อไป โดยหวังว่ามาตรการผ่อนคลายการชําระหนี้ข้างต้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวขึ้นได้ในครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการจํานวนกว่า 1.4 ล้านรายที่กู้ยืมเงินรวมแล้วเกือบ 4.5 หมื่นล้านปอนด์จากโครงการ Bounce Back Loan Scheme ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจ Hospitality ในสหราชอาณาจักร ยังมองว่ มาตรการช่วยเหลือที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ ซึ่งหลายรายได้ปิดตัวถาวรไปแล้วเนื่องจากภาคธุรกิจ Hospitality ได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีแนวโน้มต้องปิดตัวในระยะยาวกว่าภาคส่วนอื่น ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการ UK Hospitality จะติดตามการประกาศแผนงบประมาณของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ครั้งถัดไปในเดือน มี.ค. 64 ก่อนจะมีข้อเรียกร้องในรายละเอียดต่อไป
.
3.2 ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้และการเตรียมความพร้อมด้านระบบปฏิบัติการ (Operational readiness)ของสถาบันการเงิน เพื่อรองรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนนโยบายกู้ยืมเงินของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในปี 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ BOE ได้ส่งแบบสํารวจความพร้อมให้แก่สำนักงานภายใต้การกํากับดูแลเมื่อเดือน ต.ค. 63 พบว่า ระบบ Wholesale banking มีความพร้อมเนื่องจากมีประสบการณ์ในการรับมือกับอัตราดอกเบี้ยติดลบ จากลูกค้าธุรกิจในประเทศอื่นมาแล้ว ในขณะที่ Retail banking ต้องใช้เวลา 5 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมระบบ แบบชั่วคราว และ 12-18 เดือนแบบถาวร อย่างไรก็ดี สำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเมินว่า BoE จะยังไม่ใช้นโยบาย อัตราดอกเบี้ยติดลบในระยะนี้เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสทํากําไรของภาคธุรกิจการเงินที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit และโควิด-19 อยู่แล้ว BOE ควรพิจารณาใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินอื่นที่มีก่อน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องโดยการซื้อคืนพันธบัตรภายในสหราชอาณาจักร (Quantitative Easing – QE) ที่เคยใช้ในปี 2503 เป็นต้น
.
4. ทิศทางเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร
.
4.1 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ในปี 63 หดตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สองในอัตราร้อยละ 4 (มากกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2552 กว่าสองเท่าตัว) จากผลของการล็อกดาวน์จํานวน 2 ครั้ง โดยสหราชอาณาจักรถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมาก ที่สุดในกลุ่มสมาชิก G7อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1.2 ในเดือน ธ.ค. 63 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้าจากปัจจัยการล็อกดาวน์รอบที่สอง ทําให้ในภาพรวมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ยังคงขยายตัวได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1 ในขณะที่ล่าสุด บริษัท PWC วิเคราะห์ว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ที่ยังเติบโตได้แม้มีการล็อกดาวน์รอบที่สอ งสะท้อนถึงพื้นฐานการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งและน่าจะเป็นปัจจัยเสริมให้เศรษฐกิจ ในปี 2564 ฟื้นตัวได้ในอัตราร้อยละ 2.2 – 4.8 แม้จะมีการล็อกดาวน์ในเดือน ม.ค. – ก.พ. 64 โดยความรวดเร็วของการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น แผนการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่จะประกาศในวันที่ 22 ก.พ. 64 ประสิทธิผลของแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ การแถลงแผนงบประมาณ ประจําครั้งแรกของปี 64 (Spring Budget) ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 64 และการปรับตัวของความสัมพันธ์การค้าสหราชอาณาจักร – EU
.
4.2 ข้อมูลจาก Barclaycard ระบุว่า ยอดการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนในเดือน ม.ค. ปรับตัว ลดลงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ําที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 แม้ว่ายอดขายออนไลน์โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถชดเชยยอดขายที่หายไปจากปัจจัยการล็อกดาวน์ได้ ในขณะที่ BoE คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในช่วงไตรมาสที่หนึ่งจะหดตัวประมาณร้อยละ 4.2 แต่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่สอง เนื่องจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ในวงกว้างมากขึ้นและอัตราการแพร่ระบาดปรับตัวลดลงตามลําดับทําให้รัฐบาลผ่อนคลายการล็อกดาวน์มากขึ้น
.
5. นัยสําคัญต่อไทย
.
ข้อมูลจากสำนักงานการค้าต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน พบว่าในช่วงเดือน ม.ค. 64 ผู้บริโภคนิยมซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากช่องทางออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารมังสวิรัติ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 สะท้อนว่าความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพในสหราชอาณาจักรยังเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับการมีค่านิยมด้านการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทําให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติ อาหารเจ และอาหารเสริม Plant-based มีเพิ่มขึ้นตามลําดับ จึงอาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักรในการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ทั้งในรูปแบบการบริการส่งอาหารสําเร็จถึงบ้านและการขายชุดประกอบอาหาร รวมถึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกสินค้าประกอบอาหารเพื่อสุขภาพของไทยมาทําตลาดในสหราชอาณาจักรด้วย แต่ต้องคํานึงถึงข้อกฎหมายและประเด็นมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านสุขภาพพืช (Plant health) และความรับผิดชอบต่อสังคม (สิทธิแรงงาน/สิทธิสัตว์) เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวโน้มมาตรการกีดกันทางการค้าของสินค้าบางประเภทในระยะยาว
.
สอท. ณ กรุงลอนดอน