LEGO Group ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยนาย Ole Kirk Kristiansen เดิมเป็นช่างไม้และประกอบกิจการเฟอร์นิเจอร์ “Billund Woodworking and Carpentry Shop” ชื่อบริษัทมาจากภาษาเดนิช คำว่า “Leg Godt” (อ่านว่า ไล – ก็อด) แปลว่า “Play Well” ในภาษาอังกฤษ และพันธกิจของบริษัทฯ คือการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาผู้สร้าง (builders) แห่งอนาคตผ่านพลังแห่งการเล่น โดยใช้ระบบตัวต่อ (LEGO System in Play) มาประกอบกันได้ตามจินตนาการของผู้เล่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 บริษัท Lego ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรเงินจำนวนกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.32 หมื่นล้านบาท) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2568 แต่กลับต้องประกาศละทิ้งโครงการไปในที่สุด เนื่องจากบริษัทฯ ได้ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน พบว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนใน Scope 3 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนทางอ้อมอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงวัตถุดิบตั้งต้นที่ซื้อมา ของเสียจากกิจกรรมในองค์กร การขนส่งจากผู้ผลิต วัตถุดิบ การเดินทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขององค์กร การเดินทางของลูกค้าและผู้มาติดต่อ และการขนส่งและกระจายสินค้า มากถึงร้อยละ 98 โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2564 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เนื่องจากการล็อคดาวน์ในช่วง COVID-19 ทำให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงตัดสินใจที่จะใช้วัสดุในการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตามเดิม ในขณะเดียวกันก็จะค้นหาทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นต่อไป
เช่นเดียวกันกับบริษัทอื่น ๆ ที่เริ่มดำเนินการตามแบบเดียวกับบริษัท Lego และเริ่มรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอน scope 3 emissions พบว่า มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในสถานะเดียวกัน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการเปิดเผยรายงาน scope 3 emissions จึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทต่าง ๆ เป็นอย่างมาก กอปรกับในปัจจุบัน รัฐบาล นักลงทุน และผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี กรณีศึกษาของ บ. Lego จึงถือเป็นอุทาหรณ์ (cautionary tale) เกี่ยวกับ ESG (Environment, Social, and Governance) ที่ซับซ้อน โดยการผลิตสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลอาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุดเสมอไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการผลิตได้เช่นกัน
อนึ่ง รายงาน scope 3 emissions เป็นมาตรฐานที่ EU นำมาปรับใช้กับบริษัทที่มีการซื้อขายหุ้นสาธารณะ โดยให้เริ่มในรายงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กฎระเบียบใหม่ของ EU จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการดำเนินการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นในด้านการพัฒนาโซลูชั่นที่ยั่งยืนสำหรับห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดใน circular economy โดยกฎระเบียบดังกล่าวออกแบบมาเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการปล่อยก๊าซขององค์กรโดยรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานเข้าไป
จากกรณีตัวอย่างของบริษัท Lego ผู้ประกอบการไทยที่กำลังวางแผนการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และต้องมีการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนเพราะเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต่อเนื่องซึ่งต้องใช้ความระมัดระวัง ความโปร่งใส และความมุ่งมั่นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์