แม้จะอยู่ในช่วงต้นปี 2563 แต่โลกกลับต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเกิดความผันผวน เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ที่เหตุการณ์สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน เหตุการณ์เหล่านี้ กลายเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความโกลาหลและส่อแววให้เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจหลักได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป. ลาว ที่มีสัดส่วนการพึ่งพาประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างจีนในระดับสูง หรือมากกว่าร้อยละ 12.4 ต่างได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงทั้งภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
[su_spacer]
หลายประเทศอาจมีแนวทางในการรับมือหรือมาตรการที่จะช่วยบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สปป. ลาว ก็เช่นกัน มีมาตรการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ สปป. ลาวกลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงนักทุนไทยต้องการเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับ สปป. ลาว มากขึ้น โดยรัฐบาลได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ว่าด้วย การปรับปรุงงานบริการ การออกใบอนุญาตลงทุน และการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ เพื่อปรับปรุงระบบบริการลงทุนประตูเดียว (One Stop Service) และการดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว ให้มีความสะดวกรวดเร็ว และดึงดูด การลงทุนภายในประเทศและจากต่างประเทศ โดยได้กำหนดหน้าที่ ระยะเวลา และขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตลงทุนและดำเนินธุรกิจของหน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนของ สปป. ลาว ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
[su_spacer]
- ห้องการบริการลงทุนประตูเดียว เป็นหน่วยรับเอกสารคำร้องขอลงทุนและขอความเห็นจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องภายใน 2 วันทําการ จากนั้นเสนอต่อไปยังคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนเพื่อพิจารณาอนุมัติ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่รวบรวมบัญชีธุรกิจจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้อ้างอิงในการกําหนดนโยบาย ด้านศุลกากรและภาษีนําเข้าสินค้า รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การอนุญาตดําเนินธุรกิจ/ลงทุน และการออกเอกสารต่าง ๆ ทําได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
- หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดตั้งศูนย์ประสานงานบริการลงทุนประตูเดียวภายใต้การกํากับดูแลของรัฐมนตรี/เจ้าแขวง และจัดตั้งกรม/แผนก เพื่อเป็นจุดประสานงานภายในหน่วยงานนั้น ๆ โดยให้ ศูนย์ประสานงานฯ ส่งความเห็นที่เกี่ยวกับการสํารวจ และศึกษาความเป็นไปได้ของกิจการสัมปทานให้ห้องการบริการลงทุนประตูเดียวภายใน 30 วันทําการ และส่งความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทสําหรับกิจการควบคุมภายใน 3 วันทําการ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ทบทวนบัญชีกิจการควบคุมใหม่ โดยเฉพาะกิจการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ประเพณีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ และส่งให้กระทรวงแผนการและการลงทุนภายใน 90 วัน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนส่วนกลางพิจารณารับรอง รวมถึงออกระเบียบเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตดําเนินธุรกิจในสาขาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเป็นการเฉพาะ โดยกําหนดขั้นตอนและเอกสารประกอบการพิจารณาที่ชัดเจนเพื่ออํานวยความสะดวกแก่นักลงทุน
- คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ดำเนินการประชุมพิจารณาคําร้องขอลงทุนและปัญหา ที่เกี่ยวข้องร่วมกับห้องการบริการลงทุนประตูเดียวอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน และให้ห้องการบริการลงทุนประตูเดียวรายงานผลการประชุมต่อนายกรัฐมนตรี/เจ้าแขวง โดยตรง ไม่ต้องเสนอผ่านห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรีหรือห้องว่าการปกครองแขวงหรือนครหลวงเวียงจันทน์
[su_spacer]
การออกคำสั่งดังกล่าว ได้แสดงถึงเจตนารมณ์และการควบคุมงานด้านการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนของนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ของ สปป. ลาว โดยมีเป้าหมายให้ สปป. ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ปี 2573 ที่จะการทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
[su_spacer]
โดยที่ศูนย์อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ Economic Intelligence Center (EIC) ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจ สปป. ลาวจะขยายตัวประมาณ ร้อยละ 6.5 ในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของ สปป.ลาว ที่ต้องการให้ GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยเฉลี่ย ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2559 – 2563) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทย และเป็นโอกาสของ สปป. ลาว ที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ผ่านการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนกับ สปป.ลาว มากขึ้น มุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่ในหลวงพระบาง โดยมีคำสั่งนากยรัฐมนตรีเป็นกลไกสำคัญที่อำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ สปป. ลาว ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
[su_spacer]
ที่มา
https://www.naewna.com/business/470849
https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/FB-AsianVirus_12-02-20.aspx
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649111
http://www.investlaos.gov.la/index.php/news-and-events
http://www.la.one.un.org/images/publications/8th_NSEDP_2016-2020.pdf
https://www.matichon.co.th/education/news_203906
https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/6488/fiu8bmawya/CLMV_Q4_2019_TH_external.pdf
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์