เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ดร. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว และ ดร. วิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก เป็นประธานพิธีเปิดตัวแผนส่งเสริมการส่งออกกาแฟลาว ปี 2564 – 2567 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ณ โรงแรมจําปาสักแกรนด์ นครปากเซ แขวงจำปาสัก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
.
แผนส่งเสริมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและแปรรูปกาแฟใน สปป. ลาว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของผู้ประกอบการลาว โดยให้คำแนะนำด้านการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ แผนการส่งออกกาแฟยังสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของรัฐบาล สปป. ลาว รวมถึงเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนากาแฟของลาว ปี 2568 โดยให้กาแฟเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของ สปป. ลาว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจและซีวิดความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และคาดว่า สปป. ลาวจะสามารถส่งออกกาแฟไปยังสหภาพยุโรปได้มากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟออร์แกนิค
.
ปัจจุบันกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย และเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของ สปป. ลาว โดยส่งออกไปกว่า 26 ประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม การผลิตกาแฟยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่ในหลายปัจจัย โดยเฉพาะการซื้อขายกาแฟในระดับภูมิภาคและระดับโลก การปรับปรุงคุณภาพอย่างเป็นระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพกาแฟ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
.
ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) จึงได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรป (ARISE Plus) และเป็นโครงการริเริ่มที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างงานใน สปป. ลาว
.
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกกาแฟของอาเซียน และมีการร่วมลงทุนปลูกกาแฟภายใต้กรอบความร่วมมือของ CLMVT เพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟของอาเซียน อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว นับเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนด้านกาแฟ และคาเฟ่ เนื่องจาก ชาวลาวนิยมหันมาบริโภคเครื่องดื่มที่มีแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่มใหม่ที่เริ่มหันมาใส่ใจการอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและถูกสุขอนามัยมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาลักษณะการบริโภค รสชาติอาหารที่นิยมในสปป.ลาวอย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุน หรือ อาจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการลาวในการสร้างกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การเพิ่มส่วนผสมที่ช่วยบำรุงสุขภาพ หรือ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่อนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อเจาะตลาดประเทศยุโรปได้ง่ายยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
.
แหล่งที่มา:
นสพ. Vientiane Times วันที่ 6 ก.ค. 2564 และ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 3 ก.ค. 2564 https://laoedaily.com.la/2021/07/03/98052/
https://www.posttoday.com/aec/column/582603