เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวว่า รัฐบาล สปป. ลาวตั้งเป้าการเติบโตในภาคการเกษตรเฉลี่ยร้อยละ 2.5 คิดเป็นร้อยละ 15.3 ของ GDP ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ใน สปป. ลาวพึ่งพาเกษตรกรรมเพื่อการดำรงชีวิต และถือเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรลาว
.
ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาวจะส่งเสริมภาคการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้อย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยตั้งเป้าหมาย ดังนี้
.
1. ส่งเสริมการปลูกข้าวให้เพียงพอเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 3.54 ล้านตันต่อปี รวมทั้งปลูกพืชอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปมากขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังให้ได้ 3.6 ล้านตัน อ้อย 1.6 ล้านตัน และผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 636,900 ตัน กาแฟ 175,500 ตัน และสินค้าเกษตรที่มีตลาดรองรับเพื่อส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ กล้วย 753,580 ตัน แตงโม 150,140 ตัน มันเทศ 131,220 ตัน และชา 14,000 ตัน อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิอากาศและการระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของพืชบางชนิดไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะข้าว
.
2. ขยายพันธุ์ปศุสัตว์ การเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 – 4 ต่อปี โดยคาดว่าจำนวนกระบือจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 โคเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 สุกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 แพะและสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในช่วงปี 2559 – 2563 สปป. ลาวสามารถขยายพันธุ์ปศุสัตว์ได้มากขึ้น โดยมีจำนวนโคเลี้ยงเพิ่มขึ้นจาก 1.92 ล้านตัวในปี 2559 เป็น 2.66 ล้านตัวในปี 2563 การเลี้ยงปลาในฟาร์มเพิ่มขึ้นจาก 106,000 ตันในปี 2559 เป็น 122,000 ตันในปี 2562 และคาดว่าจะสูงถึง 130,000 ตันในปี 2563
.
ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2559 – 2563) กำหนดเป้าหมายการเติบโตภาคการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงภาคการเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1
.
ซึ่งไทยที่มีผลผลิตในด้านการเกษตรกรรมที่ขึ้นชื่อ ก็สามารถใช้วิกฤติ COVID-19 ให้เป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการสินค้าไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ก็ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าที่มีการเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นในช่วงถัดไป แนะให้ผู้ส่งออกเตรียมความพร้อมโดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการเติบโตดี ได้แก่ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ 6 ตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดจีน สหรัฐฯ ตุรกี และเกาหลีใต้
.
ทั้งนี้ในเบื้องต้นแนะนำให้ผู้ประกอบการสินค้าอาหาร เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปหรือปรุงสำเร็จ จะช่วยให้สามารถเจาะตลาดคู่ค้าง่ายขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่สินค้าอาหารจากไทยมีชื่อเสียง และได้รับความเชื่อถือเรื่องความปลอดภัย และมีมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานในระดับสากล
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์